อาจารย์ด้านชีวเคมี มน. ไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจโควิด 19 มาใช้เอง อาจแปลผลผิด เชื้อกระจายเพิ่ม

อาจารย์ด้านชีวเคมี มน. ไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจโควิด 19 มาใช้เอง อาจแปลผลผิด เชื้อกระจายเพิ่ม

นักวิจัยด้านชีวเคมี ม.นเรศวรไขข้อข้องใจชุดตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ย้ำชัดไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้เอง เสี่ยงเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไม่ถูกวิธี อาจแปลผลผิดทำให้เชื้อกระจายเพิ่ม ระบุเทคนิค RT-PCR ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจ

แปลผลผิด เชื้อกระจายเพิ่ม

ร.ท.หญิงสายศิริ มีระเสน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ให้ความรู้เกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย.) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีชุดตรวจ 3 ชนิด ได้แก่ 1.RT-PCR เป็นวิธีหลักของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส และเป็นการตรวจที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพราะมีความไวและความจำเพาะสูง สามารถตรวจหาเชื้อได้ในปริมาณน้อยๆ รู้ผลได้ภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง ทำให้สามารถคัดแยกผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะแรกที่มีการติดเชื้อเพื่อให้การรักษาได้รวดเร็ว และยังใช้ในการติดตามผลการรักษาได้

158851297515

2.การตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือ Rapid test เป็นการตรวจหาแอนติบอดีในเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ใช้เวลาตรวจ 5-15 นาทีก็รู้ผล แต่วิธีนี้จะสามารถตรวจพบได้เมื่อมีการติดเชื้อมาเป็นระยะเวลา 5-10 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะฟักตัว แต่ในกรณีเพิ่งได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายจะไม่สามารถตรวจหา ฉะนั้น หากเป็นกลุ่มเสี่ยงมาตรวจด้วยวิธีนี้แล้วไม่พบ จึงควรไล่ไทม์ไลน์พร้อมนับวัน และทิ้งช่วงแล้วกลับมาตรวจซ้ำ

3.การตรวจหาแอนติเจน หรือ RT-LAMP เป็นการตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนของเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโปรตีนแปลกปลอมที่เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันซึ่งก็คือแอนติบอดีให้กำจัดสิ่งแปลกปลอม (แอนติเจน) สามารถนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ความแม่นยำไม่เท่ากับวิธีแรก

เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย จะยังไม่มีอาการแสดง เพราะเชื้อใช้ระยะฟักตัวประมาณ 14 วันจึงจะเริ่มแสดงอาการ ซึ่งในผู้ป่วยบางคนก็ไม่แสดงอาการ ทำให้ขาดการป้องกันตัวเองและอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ชุดตรวจที่สามารถตรวจคัดกรองได้ก็คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยตรง ดังนั้น เทคนิค RT-PCR จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจคัดกรองผู้ที่ไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่”

อย่างไรก็ตาม เทคนิคการตรวจทั้งวิธีมาตรฐาน RT-PCR และชุดตรวจ Rapid test มีขั้นตอนการเก็บสิ่งส่งตรวจ การตรวจวิเคราะห์ และการแปลผลต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจมาใช้ตรวจด้วยตนเอง เพราะหากเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกวิธี หรือทำการตรวจโดยไม่สัมพันธ์กับอาการและระยะเวลาของโรค หรือแปลผลโดยขาดความชำนาญจะทำให้แปลผลผิด และอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเพิ่มมากขึ้น

แจงขั้นตอนพัฒนาชุดตรวจ

ทั้งนี้ ร.ท.หญิงสายศิริ และทีมงานอยู่ระหว่างพัฒนาชุดตรวจโรคเบตาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่พบมากในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อนำไปใช้ตรวจคัดกรองหาคู่เสี่ยงที่มีลูกเป็นโรคเบตาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในภาคสนาม และในระดับโรงพยาบาลปฐมภูมิ

158851299028

“ขณะนี้มีเทคนิคที่สามารถตรวจการกลายพันธุ์ของยีนเบตาธาลัสซีเมียที่พบมากในไทย แต่ในส่วนที่ทีมงานกำลังพัฒนาเป็นชุดตรวจที่สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน มีราคาสูง มีความไวและแม่นยำสามารถตรวจได้ภายในเวลาเพียง 30 นาที”

ร.ท.หญิงสายศิริ อธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการพัฒนาชุดตรวจว่า ชุดตรวจเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรค พัฒนามาเพื่อคัดกรองผู้ที่ไม่ติดเชื้อ หรือผู้ที่ไม่เป็นโรคออกจากผู้ติดเชื้อหรือผู้เป็นโรค รวมทั้งเพื่อคัดแยกโรคและจำแนกชนิดหรือสายพันธุ์ของโรคในผู้ติดเชื้อ พาหะ และผู้ป่วย การพัฒนาชุดตรวจนั้น ขั้นตอนแรกต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้าง รูปร่าง ลักษณะทางพันธุกรรม กลไกของโรค หรือเชื้อชนิดนั้นๆ ระบบภูมิคุ้มกันเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เพื่อเลือกเทคนิคและเทคโนโลยีที่มีความจำเพาะเหมาะสมมาใช้ในการตรวจหาในระดับห้องปฏิบัติการ

เมื่อได้เทคนิคที่มีความไวความแม่นยำแล้ว จึงพัฒนาเป็นชุดตรวจที่สามารถทำได้ในระดับภาคสนาม และทดสอบความไว ความแม่นยำ ไม่เกิดผลลบลวง และต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนนำออกมาใช้ตรวจจริง ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาและงบประมาณในการทำงานวิจัยที่สูงมาก