อาร์เซ็ปดึงอินเดียเข้าร่วมโต๊ะเจรจาอีกครั้ง

อาร์เซ็ปดึงอินเดียเข้าร่วมโต๊ะเจรจาอีกครั้ง

สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ เตรียมทำข้อเสนอให้อินเดียพิจารณา หวังให้ใจอ่อนยอมกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง และร่วมลงนามความตกลงสิ้นปีนี้ ส่วนขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย คืบหน้ามาก เร่งทำให้เสร็จในเดือนก.ค.นี้ เพื่อให้สิ้นปี 63ลงนามได้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า ผู้แทนจากประเทศ สมาชิก15ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ได้ประชุมระดับคณะกรรมการ ครั้งที่29ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 20-29 เม.ย.63 ที่ผ่านมาโดยได้หารือถึงการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลง เพื่อเตรียมไปสู่การลงนามร่วมกันตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงหารือประเด็นคงค้างต่างๆ และการหาแนวทางให้อินเดียกลับมาเจรจาต่อ หลังจากไม่เข้าร่วมการประกาศความสำเร็จของการเจรจาเมื่อเดือนพ.ย.62 ที่กรุงเทพฯ

      “ สมาชิก15ประเทศได้หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย และจะร่วมกันจัดทำเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียพิจารณากลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ป ตามที่ผู้นำและรัฐมนตรีอาร์เซ็ปได้ตกลงกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาร์เซ็ป ที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว ที่จะร่วมกันหาทางออกต่อข้อเสนอของอินเดีย และสมาชิกทั้ง15ประเทศยังคงยืนยันที่จะให้อินเดียกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ป โดยมุ่งหวังให้อาร์เซ็ปเป็นเวทีแห่งการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคงในภูมิภาค ที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19”

สำหรับเอกสารข้อเสนอที่สมาชิก 15 ประเทศจะยื่นให้อินเดียนั้น จะระบุถึงการหาทางออกในประเด็น อ่อนไหวของอินเดียในเรื่องการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสมาชิกซึ่งอินเดียมีความกังวลในปัญหาการขาด ดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ และข้อเสนอกระบวนการหารือตามกรอบเวลาเพื่อให้ทันต่อการลงนามความตกลงในปลายปีนี้ โดยจะต้องหารือร่วมกับอินเดียในรายละเอียดต่อไป

       นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ ยังประสบความสำเร็จในอีกหลายเรื่อง ทั้งการปรับตารางข้อผูกพันเปิดตลาดของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน, การจัดตั้งกลไกการทำงานของอาร์เซ็ป ภายหลังรัฐมนตรีอาร์เซ็ปได้ลงนาม และความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงความคืบหน้าของการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อเตรียมให้รัฐมนตรีลงนามในความตกลง โดยจะมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้เสร็จทั้ง20บทภายในเดือนก.ค.63เพื่อให้สมาชิกมีเวลาเตรียมการภายในประเทศให้เสร็จสิ้นทันต่อการลงนามความตกลงในสิ้นปีนี้

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อสมาชิกทั้ง 16 ประเทศลงนามความตกลง และอาร์เซ็ป มีผลบังคับใช้แล้ว จะกลายเป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่นี้ ที่มีสมาชิกรวม16ประเทศ และมีประชากรรวมกันเกือบ3,600ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น1ใน3ของจีดีพีโลก และจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะสร้างกิจกรรมการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาคในช่วงวิกฤตโควิด-19   ขณะนี้ ไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ต่อจากจีนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการกับวิกฤตโควิด-19ได้ดี รัฐบาลจึงเล็งเห็นโอกาส ที่จะใช้สิทธิประโยชน์จากอาร์เซ็ป เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศทันทีเมื่อความตก ลงมีผลใช้บังคับในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นจังหวะดีที่ไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าได้เร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอื่น

       สำหรับสินค้าไทยที่จะใช้สิทธิประโยชน์จากอาร์เซ็ป เช่น น้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง ข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมทั้งแผนการฟื้นฟูและส่งเสริมธุรกิจบริการไทย เช่น ก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น พร้อมปรับกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนคุณภาพให้กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยหลังวิกฤตโควิด-19เช่น นวัตกรรมและดิจิทัล เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น