กรมควบคุมโรค ย้ำ "ยังไม่ใช่นาทีฉลองชัยชนะ" ผู้ป่วยลด แต่โรคยังอยู่

กรมควบคุมโรค ย้ำ "ยังไม่ใช่นาทีฉลองชัยชนะ" ผู้ป่วยลด แต่โรคยังอยู่

กรมควบคุมโรค เตือนแม้ผู้ป่วยรายใหม่น้อย แต่มีโอกาสกลับไปในระดับวิกฤต การผ่อนปรนมาตรการ ไม่ได้หมายความว่าโรคหมดไปจากประเทศ โรคมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดซ้ำหากไม่ระวัง

จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 6 ราย รวมยอดสะสม 2,966 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตรวม 54 ราย รักษาหายหายกลับบ้านเพิ่ม 13 ราย รวม 2,732 ราย หรือร้อยละ 92.11 ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 180 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 756 ราย อายุมากที่สุด 99 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,695 ราย ภาคเหนือ 94 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคกลาง 379 ราย และภาคใต้ 687 ราย

วันนี้ (2 พฤษภาคม) ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โอกาสเจอผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินเข้ามารับการรักษาโดยที่ไม่สามารถหาต้นตอว่าติดมาจากไหนค่อนข้างน้อยมาก ทั้งนี้ เราแบ่งการแพร่ระบาดของโรคเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 โรคยังมีการแพร่ระบาด ระยะที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกัน และ ระยะที่ 3 ฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดจบ

“ตอนนี้เราอยู่ในระยะที่ 1 โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วย หรือ มีผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับที่ 2 การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 3 การแพร่ระบาดระดับวิกฤต คือ การที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าจำนวนเตียง แต่ยังไม่มีวิกฤตนี้เกิดขึ้น แต่เดิมช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน เรามีผู้ป่วยค่อนข้างมากในบางพื้นที่ แต่ในขณะนี้หากในแต่ละพื้นที่เข้ามาสู่การแพร่ระบาดในวงจำกัด ดังนั้น สิ่งที่เราพูดกันมาในช่วง 2 สัปดาห์คือเราจะปรับเปลี่ยนมาตรการในการควบคุมโรคอย่างไร เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คือ แนวคิดในการทยอยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ลง”

“แต่อยากจะเตือนทุกคนว่า พอเราถอยลงมาอยู่ในระดับการแพร่ระบาดในวงจำกัด หรือมีผู้ป่วยจำนวนน้อย ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสกลับไปในระดับภาวะวิกฤต เรามีโอกาส หากเราเผลอและไม่ระวัง การทยอยเปิดกิจการต่างๆ ต้องระมัดระวัง และดำเนินการอย่างปลอดภัย” 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยตัวอย่าง 2 จังหวัด เช่น ภูเก็ต ตรวจผู้ป่วย 671 คน พบมีผลเป็นบวก 23 คน หรือ 3.4% ขณะที่ กระบี่ ตรวจจำนวน 447 คน พบผลเป็นบวก 4 คน หรือ 0.9%  แปลว่าเรายังมีผู้ติดเชื้อหลงอยู่ในชุมชน แต่หากถามว่าหาให้หมดแล้วค่อยเปิดประเทศได้หรือไม่ เรื่องนี้ทำได้ยากมาก คงต้องตรวจกันเยอะมาก ดังนั้น ขณะที่เราทยอยเปิดกิจการต่างๆ ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีผู้ป่วย ดังนั้น การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเป็นมาตรการที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป

“ดังนั้น รัฐผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังรับ ไม่ได้หมายความว่าโรคได้หมดไปจากประเทศแล้ว บทเรียนจากประเทศอื่น สอนเราว่า หากเราไม่ระวัง โรคจะกลับมาแพร่ระบาดใหม่ เพราะฉะนั้น เราต้องทยอยการผ่อนปรน ด้วยความระมัดระวัง” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว 

  • รักษาสมดุล ให้พอเหมาะ

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า จากที่เรารักษาสมดุลเดิม ในการปิดกิจการร้านค้า รักษาระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รวมถึงมาตรการต่างๆ ของ สธ. หลังจากผ่อนปรน หากไม่เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการที่เหลือ เราอาจจะมีปัญหา ไวรัสอาจจะกลับมา ดังนั้น สิ่งที่ต้งอทำคือ มาตรการทาง สธ. จะต้องเข้มข้นขึ้น การรักษาระยะห่าง ทางสังคมก็ต้องเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย เพื่อรักษาสมดุลให้ได้ เพราะฉะนั้น การผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับ จะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรค

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบุคคล และ ระดับกิจการ เมื่อผ่อนปรนแต่ทุกนไม่ได้มีวิธีคิดแบบใหม่ เราออกจากบ้าน กลับไปทำงานตามปกติ แต่ทุกครั้งที่ออกจากบ้านคือความเสี่ยงเพราะคนจะออกจากบ้านมากขึ้น ดังนั้น การปฏิบัติตัวหลังเริ่มการผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับ ระดับบุคคล ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยง ควรเข้าใจว่าหากสมาชิกในครอบครัวอาจเป็นผู้นำเชื้อจากนอกบ้านมาสู่กลุ่มเสี่ยงได้ การออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการพบปะหรือชุมชนเป็นกลุ่มก้อน และสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ

ในระดับองค์กร การกลับมาผ่อนคลายมาตรการจะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงการระบาด สิ่งที่ต้องทำคือลดความเสี่ยงของสถานที่หรือกิจการต่างๆ ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือในการลดความเสี่ยงในการระบาด ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งที่มีคำสั่งปิดไปหรือไม่มีคำสั่งปิด (ที่ไม่ปิดไม่ใช่เพราะไม่เสี่ยง)” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว  

3 ปัจจัย ผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิตไทยต่ำ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการที่ไทยมีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตต่ำกว่าหลายประเทศ ปัจจัยหลัก คือ เราได้รับความร่วมมือจากทุกคน ทำให้ผู้ป่วยค่อนข้างน้อย ระบบการแพทย์รับมือได้  ปัจจัย ถัดมา คือ การที่คนไข้ส่วนใหญ่ตรวจพบในอาการค่อนข้างน้อย ระบบการวางแผนดูแลคนไข้ของไทย ผู้ป่วยทุกคนต้องอยู่ในโรงพยาบาล พออาการเปลี่ยน ทำให้สามารถตรวจได้เร็ว ไม่เหมือนบางประเทศที่ให้คนไข้อาการน้อยอยู่บ้าน ทำให้เมื่ออาการมากขึ้น มาโรงพยาบาลช้า

"และ ปัจจัยสุดท้าย คือ การที่ไทยมียาต้านไวรัส แม้ผลการศึกษาจะมีอยู่เพียงแค่ที่ประเทศจีน แต่การตั้งข้อสังเกตของทีมแพทย์ที่ใช้ยา คาดว่า ยาน่าจะมีผลต่อผู้ป่วย ลดอาการหนัก ลดผู้เสียชีวิตได้ ผสมกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการแพทย์ การร่วมมือของพีน้องชาวไทย และการมียาต้านไวรัส ทำให้ผู้เสียชีวิตค่อนข้างต่ำ"

แนะคนเดินทางกลับบ้าน ป้องกันตนเอง

สำหรับกรณีที่มีคนจำนวนมาก เดินทางกลับบ้านในวันหยุด รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โดยทั่วไปความเสี่ยงของการเดินทางข้ามพื้นที่จะมีก็ต่อเมื่อ ผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงสูงไปยังพื้นที่เสี่ยงต่ำ สิ่งที่ควรทำ คือ คนที่เดินทางจากจังหวัดเสี่ยงสูง ต้องป้องกันตัวเอง แยกตัวเอง ทิ้งระยะห่างระห่างบุคคลให้ดี ใส่หน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อพบปะกับคนอื่น และป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับประกาศของแต่ละจังหวัดว่าต้องกักกันตนเองสังเกตอาการหรือไม่ แต่หากไม่มีประกาศ เมื่อถึงภูมิลำเนา ควรจะป้อกงันตัวเองไม่ให้แพร่โรคให้คนอื่น

“บางครั้งเราเผลอคิดว่าเราไม่มีอาการ เราสบายดี มีพฤติกรรมการรับประมานอาหารร่วมกัน ในระยะที่ไม่แสดงอาการชัดเจน แต่อีกวันสองวัน มีอาการขึ้นมา จะเป็นระยะที่แพร่โรคได้เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ควรประมาท พฤติกรรมเหล่านี้”  

ขณะที่ปัจจุบัน มีบางพื้นที่มีการายงานว่า มีคนที่เริ่มไม่ใส่หน้ากากอนามัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลทั้งหมด จะต้องอยู่ การไม่ใส่หน้ากาก เป็นการเพิ่มความเสี่ยงกับคนในครอบครัว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเรา ไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง แต่ทำเพื่อยุติวงจรการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจและปฏิบัติตัว คือ มาตรการป้องกันตนเอง หากเราประมาทเราจะมีโอกาสติดเชื้อและนำเชื้อไปติดให้กับคนที่บ้าน

นาทีนี้ไม่ใช่นาทีที่เราจะฉลองชัยชนะ และกลับไปใช้ชีวิตเหมือนปกติ ทุกคนต้องอยู่ในสภาวะที่ระมัดระวังเต็มที่เหมือนเดิม” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว