พิษโควิดลากยาว มิ.ย. ลามอุตสาหกรรม เสี่ยงตกงานเพิ่ม 7-9 ล้านคน

พิษโควิดลากยาว มิ.ย. ลามอุตสาหกรรม เสี่ยงตกงานเพิ่ม 7-9 ล้านคน

พิษโควิด-19 ทำยอดสั่งซื้อลด สถานประกอบการใช้ม.75 หยุดกิจการชั่วคราว 2.2 พันแห่ง กระทบลูกจ้าง 4.4 แสน เลิกจ้าง 1.4 หมื่น จาก 1,055 แห่ง “อีไอซี” คาดคนว่างงานสูงกว่าทุกวิกฤติในอดีต เอกชนหวั่นหากยาวถึง มิ.ย. แรงงานภาคอุตสาหกรรม ตกงานเพิ่มอีก 7-9 ล้านคน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน รายงานสถานการณ์การเลิกจ้าง ปีงบประมาณ 2563 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 26 เมษายน 2563 พบว่า มีสถานประกอบการเลิกจ้างจากภาวะขาดทุน ค่าเงินบาท , โรคระบาด เช่น โรคโควิด-19 , เลิกกิจการ , การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี/ปรับลดขนาดองค์กร/ลดจำนวนพนักงาน , ไม่มีคำสั่งซื้อ/จำหน่ายผลผลิตไม่ได้ และลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบ หรือคำสั่ง 

โดย 3 อันดับกิจการที่เลิกจ้าง ได้แก่ 1. การผลิต 2. การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และ 3. บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช้าและบริการทางธุรกิจ อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ 284 แห่ง สมุทรสาคร 75 แห่ง ระยอง 63 แห่ง ขอนแก่น 39 แห่ง และ ประจวบคีรีขันธ์ 32 แห่ง จังหวัดที่มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างสูงสุด 5 อันดับได้แก่ 1. กรุงเทพฯ 3,070 คน 2. สมุทรสาคร 1,212 คน 3. ปทุมธานี 1,039 คน 4. ขอนแก่น 994 คน 5. ลำพูน 920 คน

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีลูกจ้างได้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชย 14,945 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 3,848 คน จากสถานประกอบการ 1,055 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 562 แห่ง เงินสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับ 337.760 ล้านบาท  และมีผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ปีงบประมาณ 2563 (1 ตุลาคม – 31 มีนาคม ) จาก สำนักงานประกันสังคม ณ เดือนมีนาคม มีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 11,730,351 คน จำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 170,144 คน แบ่งเป็น ลาออก 130,994 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 6,361 คน และ เลิกจ้าง 32,789 คน

  • สถานประกอบการใช้ ม.75เพิ่ม15เท่า  

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีสถานประกอบกิจการที่มีการใช้มาตรา 75  รวม 2,237 แห่ง (เพิ่มขึ้น 15 เท่า จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 149 แห่ง) จำนวนรวม 4,845 ครั้ง 86,903 วัน ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 448,611 คน (เพิ่มขึ้น 7 เท่า จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 63,120 คน) แบ่งเป็น หยุดกิจการบางส่วน 1,088 แห่ง จำนวน 2,653 ครั้ง 36,349 วัน ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 260,290 คน และ หยุดกิจการทั้งหมด 1,348 แห่ง จำนวน 2,192 ครั้ง 50,554 วัน ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 244,015 คน

158836111686

5 อันดับ จังหวัดที่ใช้มาตรา 75 มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 328 แห่ง 2. สมุทรปราการ 313 แห่ง 3. ระยอง 312 แห่ง 4. พระนครศรีอยุทธยา 205 แห่ง และ 5. ปทุมธานี 134 แห่ง

ขณะที่ 5 อันดับ จังหวัดที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ ได้แก่ จ.ระยอง 80,858 คน 2. สมุทรปราการ 78,038 คน 3. ชลบุรี 47,402 คน 4. พระนครศรีอยุทธยา 43,127 คน และ 5. กรุงเทพฯ 38,583 คน

"ตอนนี้ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงแทบจะทุกธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต ได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงภาคบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม บริษัทจัดทัวร์ รถรับส่งนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่เชื่อมโยงกับท่องเที่ยวทั้งหมดคาดว่าหลังจากวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่มีการผ่อนปรนมาตรการบางกิจการอาจจะดีขึ้นบ้าง เช่น อาหาร เดลิเวอร์รี่” อธิบดี กสร. กล่าว

  • "อีไอซี”ชี้ว่างงานสูงกว่าทุกวิกฤติ

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยมีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว วิกฤติดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า

โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งถือเป็นคนส่วนมากถึง 62%ของกำลังแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อภาวะเศรษฐกิจ

อีไอซี ประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤติการณ์ในอดีตของไทย ทั้งนี้เพราะผลกระทบครั้งแรกกินวงกว้างกว่าและมีการหยุดชะงักฉับพลันของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่นๆ ได้เหมือนในอดีตจากปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้ อีไอซี ยังมองว่า จะมีแรงงานจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก หรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง

    ทั้งนี้คาดว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ ยูเชฟ และผลจากโควิด-19 ที่จะยังมีอยู่ตราบใดที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนความเสี่ยงในตลาดแรงงาน ยังมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพชีวิตของภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน

  • เอกชนคาดมิย.ตกงาน7-9ล้าน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน โดยจากการประเมินของภาคเอกชนคาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน แบ่งเป็นธุรกิจบันเทิงจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน ร้านอาหาร 2.5 แสนคน สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน 

สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคนโรงแรม 9.78 แสนคน ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน สิ่งทอ 2 แสนคน และธุรกิจก่อสร้าง

1 ล้านคน จะเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือนประมาณ 6.773 ล้านคน คิดเป็น 95% ของแรงงานที่ตกงาน และหากยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือนตัวเลขการตกงานอาจจะเพิ่มถึง 10 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานนอกและในระบบประกันสังคม

 ขณะนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจะเป็นเอสเอ็มอีหากการระบาดของโควิด-19 ยืดยาวเกินเดือน มิ.ย.นี้ จะลามไปกระทบธุรกิจใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการตกงานสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่าวิกฤติโควิต-19 ก่อให้เกิดปัญหาด้านแรงงานที่รุนแรงกว่าปี 2540 และรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยภาคเอกชนประเมินว่าอาจมีคนตกงานถึง 9.21 ล้านคน จากแรงงานไทยที่มีทั้งหมด 38 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน และแรงงานนอกระบบรวมทั้งการเกษตร 27 ล้านคน ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากผลกระทบโควิด-19 แรงงานในระบบประกันสังคมยื่นขอรับเงินชดเชยว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยสูงถึง 1.5 ล้านคน

ทั้งนี้ หากการระบาดของโรคโควิด-19 ยาวถึงเดือน มิ.ย.นี้ ยอดคนตกงานจะรุกลามถึงแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มี 6 ล้านคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเกือบทุกค่ายรถยนต์หยุดการผลิต ทำให้กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นับพันโรงงานมีแรงงานรวมกว่า 7.5 แสนคน อาจจะให้อุตสาหกรรมนี้มีคนตกงาน 2-3 แสนคน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจะตกงานอีกหลายแสนคน

“หากผ่อนคลายเปิดศูนย์การค้าได้จะช่วยผู้ค้าปลีกและร้านอาหารในห้างได้มาก ทำให้ดูดซับแรงงานที่ตกงานได้และหากทยอยเปิดร้านเช่น ร้านตัดผมที่มีแรงงาน 3.6 แสนคน ร้านอาหาร 2-3 แสนคน บวกกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลให้เงินรายละ 5 พันบาทจะมีเงินกว่า 4 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าหลายเท่าและกลับมาจ้างงานมากขึ้น”