'บริหารจัดการอวัยวะ' ทางเลือกของกฎหมายสู่สังคม 4.0

'บริหารจัดการอวัยวะ' ทางเลือกของกฎหมายสู่สังคม 4.0

ในยุคที่เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถเอาชนะความเจ็บป่วย และสร้างสังคมที่ประชากรมีชีวิตยืนยาวมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่ความจริงก็ไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะยังติดปัญหาการบริการจัดการอวัยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายของไทย

ในยุคที่เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถเอาชนะความเจ็บป่วย และสร้างสังคมที่ประชากรมีชีวิตยืนยาวมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะที่สามารถสร้างสิ่งเทียมทดแทนได้เสมอ แต่ความจริงก็ไม่เป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป

เมื่อพิจารณาถึงอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ ปอด ดวงตา ตับ หรือไต สถิติจากรายงานประจำปี 2561 ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีผู้บริจาคอวัยวะทั้งสิ้น 261 ราย คิดเป็นอัตราผู้บริจาค 3.9 คน ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน แต่มีผู้แสดงความจำนงรอปลูกถ่ายอวัยวะถึง 6,401 ราย ซึ่งความต่างของตัวเลขที่มีอยู่มากนั้น ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายไต มีเวลาเฉลี่ยของการรอรับบริจาคนานถึง 5 ปี 1 เดือน 26 วัน ซึ่งนั่นไม่ดีพอในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิต

เช่นนี้ทางออกของการช่วยเพิ่มอัตราผู้รอดชีวิตจึงอาจจะอยู่ที่ “การบริหารจัดการอวัยวะ” ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ

1.ระบบให้คนเลือกเข้าร่วม หรือการบริจาคโดยสมัครใจ (Opt-in หรือ Contracting in) เป็นระบบที่ใช้ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมไปถึงเยอรมนี ที่ยึดถือหลักความยินยอมโดยชัดแจ้ง กล่าวคือผู้ประสงค์บริจาคอวัยวะต้องแสดงความจำนงล่วงหน้าก่อนจะถึงแก่ความตายไว้ที่หน่วยงานรัฐ

ซึ่งในประเทศไทย ตัวระบบจะยึดโยงหลักการกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 อันมีวัตถุประสงค์เป็นการยืนยันเสรีภาพในชีวิต และเนื้อตัวร่างกายของประชาชน ดังนั้น การจะยินยอมให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับอวัยวะต้องกระทำ “โดยชัดแจ้ง” ปราศจากการบีบบังคับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้จัดการมรดกอันหมายความรวมถึงทายาทโดยพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรมย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำศพของผู้ตาย กล่าวคือ แม้ผู้ตายแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ และมีบัตรประจำตัวผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ แต่หากญาติไม่ยินยอมก็เท่ากับไม่สามารถบริจาคได้ ต้องได้รับความยินยอมของครอบครัวหรือญาติอีกครั้ง

แม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2508 วินิจฉัยว่าการแสดงเจตนาบริจาคศพของผู้ตายย่อมมีผลบังคับตามกฎหมาย ทำให้ทายาทไม่อาจขอศพดังกล่าวคืนจากโรงพยาบาล ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับการแสดงเจตนาก่อนตายในการบริจาคอวัยวะได้เช่นกัน ก็ไม่ทำให้ความประสงค์ของผู้ตาย รวมไปถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการปลูกถ่ายอวัยวะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เพราะบางกรณีกว่าการฟ้องร้องจะยุติหรือได้รับความยินยอมจากทางญาติ อวัยวะที่ถูกบริจาคก็ไม่สามารถถูกนำไปปลูกถ่ายได้แล้ว

2.ระบบบังคับให้ทุกคนต้องแสดงความจำนงอย่างใดอย่างหนึ่ง (Mandated Choice) เป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นในสหรัฐ โดยรัฐระบุกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าการตัดสินใจของผู้บริจาคเป็นอิสระ ไม่ต้องได้รับการยินยอมจากใคร และไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยผู้ใด ต่อมามีการพัฒนาโดยการนำมาเป็นคำถามแสดงเจตจำนงว่าจะยินดีบริจาคหรือไม่ เมื่อประชาชนไปติดต่อทำธุรกรรมกับรัฐ 

ตัวอย่างในรัฐอิลลินอยส์ ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา การที่ประชาชนไปทำหรือต่อใบขับขี่ จะต้องตอบคำถามและบันทึกว่า “คุณยินดีจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่” โดยให้ตัวเลือกว่า “ยินดี” หรือ “ไม่ยินดี” ผลที่เกิดขึ้นคือปัจจุบันมีราว 60% ที่ยินดีบริจาคอวัยวะ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ราว 38% เป็นแนวทางให้รัฐนิวยอร์กและอีกหลายรัฐนำไปปรับใช้ในเวลาต่อมา

3.ระบบถอนตัวออก (Opt-out หรือ Contracting out) เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนามาจากทฤษฎี “nudge theory” ของริชาร์ด เธเลอร์ (Richard H.Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชาวอเมริกัน โดยมุ่งใช้หลักความยินยอมที่พึงสันนิษฐานได้ (Presumed consent) โดยกำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ และให้แพทย์สามารถนำอวัยวะออกจากผู้ที่สมองตายมาใช้ปลูกถ่ายอวัยวะได้ โดยถือเป็นข้อสันนิษฐานว่าคนที่ตายแล้ว ทุกคนเป็นผู้บริจาคอวัยวะ จนกว่าจะมีการแจ้งถอนตัวออกว่าตนไม่จำนงจะบริจาคอวัยวะก่อนถึงแก่ความตาย หรือเรียกว่าการลงทะเบียนออกนั่นเอง (Opt-out registers)

ระบบนี้กำลังเป็นที่นิยมในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการการบริหารจัดการอวัยวะเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการทางการแพทย์ โดยฝรั่งเศสและอังกฤษเป็น 2 ประเทศที่ออกกฎหมายมาใช้ระบบนี้เป็นประเทศล่าสุด ซึ่งฝรั่งเศสประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. และอังกฤษประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

ออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการอวัยวะ มีอัตราการบริจาคอวัยวะสูงถึง 99.98% ของประชากร หลังเปลี่ยนระบบเป็น Opt out โดยตัวเลขจากระเบียบการบริจาคอวัยวะแห่งออสเตรีย พบว่า ชาวออสเตรียกว่า 500 คนที่บริจาคอวัยวะเมื่อ พ.ศ.2558 สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอรับอวัยวะได้เฉลี่ยถึง 1,500 คน

จากทั้ง 3 ระบบที่ได้ถูกกล่าวมานั้น ย่อมแสดงออกถึงจุดดีจุดด้อยของแต่ละระบบตามวัตถุประสงค์ และจุดยืนของแนวนโยบายแห่งรัฐในการหาทางออกของปัญหาการบริหารจัดการอวัยวะที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ แต่ด้วยความต้องการเอาชนะความเจ็บป่วยของประชากรเป็นสำคัญ

ปัจจุบันประเทศไทยจึงได้มีการเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับชีวิตและการบริจาคอวัยวะ พ.ศ....” โดยยึด “ระบบถอนตัวออก” มาใช้แก้ปัญหาความขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่ายที่เกิดขึ้นในอนาคต

คำถามที่ตามมาในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตามรัฐธรรมนูญก็คือ ระบบนี้เป็นการลิดรอนสิทธิดังกล่าวนั้นหรือไม่

สำหรับผู้เขียนมองว่าระบบดังกล่าวเป็นเพียงแค่กระบวนการเปลี่ยนสารตั้งต้นทางความคิดว่า “เราทุกคนเป็นผู้ให้อวัยวะ” ภายใต้กรอบแห่งสิทธิที่พวกเราพึงมีเฉกเช่นเดิม นั่นคือ “การเลือก” และสามารถ “เปลี่ยนแปลง” ในสิทธิดังกล่าวได้ตลอดเวลาที่เราต้องการ เช่นนี้หลักการทางศาสนา ความเชื่อ ตามที่ประชาชนทุกคนพึงมีอันสอดคล้องต่อการตัดสินใจบริจาคนั้น ยังคงได้รับการยืนยัน และยังเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาได้