ครม.เคาะปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ 63 แผนก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 6 แสนล้าน ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ

  ครม.เคาะปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ 63 แผนก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 6 แสนล้าน ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ

ครม.ไฟเขียวปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 63 เพิ่มขึ้นรวมกว่า 6.03 แสนล้านบาท จากเดิม 8.9 แสนล้าน รวมเป็น 1.49 ล้านล้าน เพิ่มมาตามเงินกู้ ตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ"ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการในการกู้เงินใหม่ การบริหารหนี้เดิม และการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ 

การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 มีวงเงินเปลี่ยนแปลงไปดังนี้ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 603,492 ล้านบาท จากเดิม 894,005 ล้านบาท รวมเป็น 1,497,498 ล้านบาท 

2.แผนบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 204,627 ล้านบาท จากเดิม 831,150 ล้านบาท รวมเป็น 1,035,777 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ ปรับลดสุทธิ 8,999 ล้านบาท จากเดิม 398,372 ล้านบาท เป็น 389,373 ล้านบาท 

ส่วนของการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 6.03 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 ที่ต้องมีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

“ส่วนนี้ต้องมีการกู้เงินระยะเร่งด่วนเพื่อจัดสรรให้กับการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในระยะเร่งด่วน ซึ่งเตรียมวงเงินไว้รองรับตาม พ.ร.ก. วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท”

นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ปรับเพิ่มสุทธิ 18,702 ล้านบาท จากเดิม 145,126 ล้านบาท เป็น 163,829 ล้านบาท โดยส่วนที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับลดการกู้เงินลง 4,000 ล้านบาท 

2.การปรับลดการกู้เงินของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ลดลง 1,920 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปรับเพิ่มขึ้น 8,300 ล้านบาท  

ส่วนแผนงานที่รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ (เงินกู้ในประเทศ) ปรับลดสุทธิ 17,201.76 ล้านบาท กระทรวงการคลังได้ปรับลดวงเงินกู้ในประเทศที่ให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งกู้ต่อสุทธิ 17,201 ล้านบาท จากเดิม 85,357 ล้านบาท เป็น 68,155 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) ปรับเพิ่ม 1,061 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ปรับลดสุทธิ 18,262 ล้านบาท  

โดยปรับลดในส่วนโครงการที่ล่าช้า ได้แก่ โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมากและสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อหัวลำโพง และโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน  ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เป็นต้น 

158833018734

ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มสุทธิประมาณ 2.04 แสนล้านบาท เป็นการปรับเพิ่มแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาลโดยมีรายการที่สำคัญเช่น การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ 1.การปรับเพิ่มหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายได้สูงกว่ารายจ่ายและการบริหารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาทเพื่อปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลังที่กู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท 

2.หนี้เงินกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ(มาตรา 23) ในโครงการเพื่อใช้การพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 1 ที่ปรับลดลง 1201.08 ล้านบาท โดยเป็นการปรับลดโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับสัญญาเงินกู้ เป็นต้น