‘บราเดอร์’ เดินกลยุทธ์สู้พิษโควิดฉุดยอด

‘บราเดอร์’ เดินกลยุทธ์สู้พิษโควิดฉุดยอด

ไตรมาสแรกยอดตก 20% น้อยกว่าที่คาด

“บราเดอร์” รับพิษโควิดฉุดยอดขายไปกว่าครึ่ง พันธมิตรที่มีหน้าร้านในห้างสรรพสินค้ากระทบหนักแต่ออนไลน์แนวโน้มดี เวิร์คฟรอมโฮมช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ เดินกลยุทธ์ช่วยคู่ค้าบริหารสต็อก ขยายเวลาชำระเงิน พร้อมออกแคมเปญการตลาดกระตุ้นยอดขาย เผยยังไม่มีการปรับลดเป้ารายได้ หวังเติบโตได้สวนกระแสไอที 

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน บราเดอร์มีแผนจัดทำแคมเปญและโปรแกรมการตลาดเพื่อผลักดันยอดขายพร้อมช่วยให้ธุรกิจของคู่ค้าสามารถเดินหน้าต่อไปได้

“แนวทางของเราหลักๆ เน้นช่วยให้ธุรกิจของพันธมิตรอยู่รอด เช่น เข้าไปช่วยด้านการบริหารจัดการสต็อกสินค้า ขยายเวลาการชำระเงินโดยพิจารณาตามความต้องการของคู่ค้าแต่ละราย รวมถึงสนับสนุนด้านการตลาดในรูปแบบต่างๆ”

เขากล่าวว่า เดือนเม.ย.ยอดขายบราเดอร์ส่วนของช่องทางจัดจำหน่ายซึ่งเป็นการขายให้พันธมิตรตกลงกว่า 50% ทว่าโดยรวมยอดขายตกลงราว 15% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก ประเมินได้ว่าผู้บริโภคและธุรกิจยังมีการใช้จ่ายเงินลงทุนด้านไอที ทว่าพันธมิตรไม่กล้าที่จะซื้อสินค้าตุนไว้จำนวนมาก

ที่น่าสนใจยอดขายออนไลน์เติบโตอย่างมาก พันธมิตรบางรายเติบโตได้ถึง 5-6 เท่า ขณะเดียวกันการใช้จ่ายของกลุ่มองค์กรเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากความต้องการนำไปใช้งานเพื่อเวิร์คฟรอมโฮม ทุกวันนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้

โดยทั่วไปนับว่าผู้ค้าไอทีเริ่มปรับตัวกันได้บ้างแล้ว สินค้าที่ยังขายได้คือ ผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊ค รวมไปถึงเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นสำหรับใช้งานที่บ้านและในสำนักงาน แต่ทั้งนี้การใช้จ่ายอาจเน้นไปที่เครื่องขนาดเล็ก หรือลูกค้าอาจเลือกใช้โมเดลการลงทุนแบบเช่าใช้มากกว่าที่จะลงทุนซื้อเครื่องเอง

นอกจากนี้ ที่ขายดีอย่างมากคือผลิตภัณฑ์จักรเย็บผ้า เพื่อนำไปใช้เย็บหน้ากากผ้า กระทั่งขณะนี้สินค้าขาดตลาด ไม่พอขาย ที่สั่งเข้ามาใหม่และไปขอซื้อจากตลาดอื่นๆ ในต่างประเทศก็ขายออกได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน คาดว่าแม้สถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติความต้องการก็จะยังไม่ตก เนื่องจากการใช้หน้ากากน่าจะยังคงอยู่และกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ในการใช้ชีวิตของผู้คน

“โดยภาพรวมไตรมาสแรก ยอดขายของเราหายไปประมาณ 20% น้อยกว่าที่กังวล ส่วนของคู่ค้าหากเป็นพันธมิตรที่มีหน้าร้านบนห้างอย่างเดียวย่อมได้รับผลกระทบชัดเจน โดยยอดขายน่าจะตกลงไม่ต่ำกว่า 60% ทว่าตลาดต่างจังหวัดยังพอมีโอกาสเนื่องจากมีสาขานอกห้างสรรพสินค้า บางรายมีช่องทางขายออนไลน์ได้ เท่าที่ได้รับทราบข้อมูลมาเติบโตได้กว่า 10 เท่าบนออนไลน์”

ปัจจุบัน บราเดอร์มีดิสทริบิวเตอร์หลัก 3 รายคือ เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น, ซินเน็ค, และวีเอสทีอีซีเอส ส่วนดีลเลอร์มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 ราย ที่แอคทีฟมีอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ราย สัดส่วนลูกค้า 30% เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่เหลือคือเอสเอ็มอี โซโห และลูกค้าทั่วไป

นายธีรวุธเผยว่า แนวทางธุรกิจยังคงยึดกลยุทธ์ 3ซี ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า(Customer) ช่องทางการจัดจำหน่าย(Channel Partner) และตัวองค์กร(Company) หลังจากโควิดน่าจะต้องมีการทบทวนกลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นิวนอร์มอลของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สำหรับการลงทุนของบราเดอร์ในไทย ยังไม่มีการตัดค่าใช้จ่ายใดๆ ออกไป บริษัทขอประเมินสถานการณ์จริงที่สอดคล้องไปกับยอดขาย เบื้องต้นทีมขายทราบดีอยู่แล้วว่าต้องใช้เงินให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด ด้านการสนับสนุนพันธมิตรในการขายบนออนไลน์ จะทำทั้งการขายบนแพลตฟอร์มของตนเอง มาร์เก็ตเพรส อีกทางหนึ่งบราเดอร์ได้เปิดตัวบราเดอร์โตร์ของตนเองไว้ด้วย

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเป้ารายได้ที่ตั้งไว้ว่าปีงบประมาณ 63 จะสามารถเติบโตถึง 5% สวนกระแสตลาดที่ค่อนข้างชะลอ ด้านบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นขอให้รอประเมินสถานการณ์ดูก่อน เนื่องจากโควิดยังไม่จบจึงจะยังใช้เป้าหมายดังกล่าวไปก่อนในช่วง 3 เดือนจากนี้

“ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ บริษัทแม่ยอมรับถึงยอดขายที่อาจขาดหายไป สำคัญคือการทำให้ธุรกิจของพันธมิตรเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ไปกดดันเรื่องยอดขาย แล้วหลังจากนั้นค่อยมาดูกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร” นายธีรวุธ กล่าว