'วันแรงงาน' ก็มั่งคั่งได้! ชวนทำ 3 ขั้นสร้างตัวจาก 'ค่าแรงขั้นต่ำ'

'วันแรงงาน' ก็มั่งคั่งได้! ชวนทำ 3 ขั้นสร้างตัวจาก 'ค่าแรงขั้นต่ำ'

เปิด 3 สเต็ปเก็บเงินก้อน "วันแรงงาน" จาก "ค่าแรงขั้นต่ำ" 305 บาท ที่ใครๆ ก็ทำได้ แค่เข้าใจการบริหารจัดการเงิน

"ค่าแรงขั้นต่ำ" มักเป็นอีกเรื่องที่ถูกพูดถึงใน "วันแรงงาน" ที่วันนี้ค่าแรงพื้นฐาน 305 บาท ที่ดูไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้กลุ่มแรงงานเข้าถึงโอกาสทางการเงินอื่นๆ ได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ

แต่หากพูดถึงแค่การ “เก็บเงินรายได้น้อย หรือรายได้มาก ก็ไม่สำคัญเท่ากับความพยายามในการบริหารจัดการเงินของตัวเองให้ลงตัว

“กรุงเทพธุรกิจ” จึงรวบรวมไอเดียเก็บเงิน จากการแลกเปลี่ยนความเห็นในโซเชียลมีเดีย ทั้งในมุมของคนที่ทำงานค่าแรงขั้นต่ำ รวมคำแนะนำจากกูรูด้านการเงินต่างๆ เพื่อเป็นแนวทาง และแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นสร้าง เงินเก็บ ที่ทุกคนควรจะมี ในแบบที่ใครๆ ก็ทำได้

การบริหารจัดการเงินเบื้องต้น ที่ทำให้ใครก็ตามที่มีรายได้สามารถสร้าง “เงินเก็บ เพื่อเป็นหนึ่งในหลักประกันสำหรับการใช้ชีวิตที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือต้องเจอวิกฤติแบบไม่ทันตั้งตัว มี 3 สเต็ปดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

'วันแรงงาน' กับสิทธิตามกฎหมายที่คนค้าแรงงานต้องรู้!

เทียบ ค่าแรง กับ ค่าครองชีพ ในวันนี้ กับอีก 10 ปีที่ผ่านมา

10 เรื่อง ‘วันแรงงาน’ 1 พฤษภาคม ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

  •  สเต็ปแรก เริ่มต้นจาก “ความคิด” และลงมือทำ 

แม้จะฟังดูเป็นคำสวยหรู จับต้องไม่ได้ แต่ความคิดนี่แหละคือจะเป็นชนวนสำคัญจุดแรงบันดาลใจ ที่จะทำให้เราสามารถลงมือทำได้จริงๆ อย่างที่คิด 

หลายคนตั้งเป้าเก็บเงินก้อนใหญ่ แต่ไปไม่ถึงฝันท้อตั้งแต่ยังไม่ถึงกลางทาง บ้างก็เพราะเห็นว่าเก็บเงินไม่ได้ตามเป้าในเวลาอันรวดเร็ว บ้างก็เปรียบเทียบกับคนอื่นว่าเขามีเงินที่มากกว่าจึงคิดว่าตัวเองไม่มีวันได้ ตราบใดที่ยังไม่เชื่อความคิดตัวเองก็ยากที่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ การตั้งสมการแบบเดิมย่อมได้คำตอบเดิม เช่นเดียวกับความคิดเดิมๆ ที่ทำให้มีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ดังนั้น การ “เก็บเงิน จึงต้องเริ่มที่ความคิด หรือหาแรงบันดาลใจ

158827375712

  •  สเต็ปที่สอง “มีน้อยก็เก็บน้อย” “มีมากก็เก็บมาก” แต่ห้าม “ไม่เก็บเลย” 

เพราะเงินเก็บ ไม่ได้จำเป็นต้องเก็บคราวละมากๆ แต่สามารถเก็บเล็กผสมน้อยจนเป็นเงินใหญ่ได้ ซึ่งเทคนิคที่กูรูการเงินหลายท่านแนะนำ และเป็นทริคที่คนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเงินนำมาแชร์อยู่เสมอ คือการแบ่งรายได้ 5-10% ของเงินเดือน (หรือมากกว่านั้น) หรือทุกครั้งที่มีรายได้ออกมาเก็บก่อนที่จะนำไปใช้จ่าย 

ส่วนจะเก็บแบบทยอยใส่ในบัญชีธนาคาร หรือเก็บในกระปุกที่บ้านก็แล้วแต่สะดวก เมื่อครบปี ลองเปิดกระปุกหรือสมุดบัญชีดูสักครั้ง แล้วจะรู้ว่า “การเก็บเงินเป็นเรื่องที่ทำได้จริง และไม่ได้ยากเกินไป

วิธีการหักรายได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถทำได้กับทุกกลุ่มอาชีพ ทุกวัย ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษาที่ได้ค่าขนม แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงานรับจ้างรายวัน ค้าขาย พนักงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ ฯลฯ

สำหรับคนที่รู้สึกว่าการเก็บตายตัวทุกๆ วัน หรือทุกๆ เดือนกระทบต่อชีวิตประจำวันเกินไป ลอง “เก็บเศษเหรียญ ที่ได้รับจากการทอนเงินในแต่ละวัน ทยอยหยอดกระปุกทุกครั้งที่ได้รับ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ยังพอมีเงินส่วนที่แยกออกจากค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นเงินเก็บในอนาคต  

เพราะการ “เก็บเงินจำนวนน้อยไม่ใช่ปัญหา กุญแจสำคัญที่ทำให้การเก็บเงินประสบความสำเร็จ คือ ระยะเวลา และวินัย ที่จะทำให้เงินก้อนเล็กๆ เปลี่ยนเป็นเงินก้อน ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นเงินก้อนที่ใหญ่กว่า หรือเป็นเงินสำรองยามฉุกเฉินได้

  •  สเต็ปที่สาม “หาความรู้” เพื่อต่อยอดในช่องทางอื่นๆ 

เมื่อเรามีความตั้งใจ มีวินัย กอปรกับใช้ระยะเวลาจนทำให้เริ่มมีเงินเก็บเป็นชิ้นเป็นอัน นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าการบริหารจัดการเงินเริ่มลงตัว เพราะสามารถแยกเงินออม ออกจากค่าจ่ายได้อย่างจริงจัง

สำหรับใครที่มาถึงสเต็ปนี้ได้ อาจแบ่งเงินเก็บเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่สำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เงินเก็บสำหรับบั้นปลายชีวิต และเงินสำหรับวางแผนสร้างความก้าวหน้าในการบริหารจัดการเงินในมิติอื่นๆ ได้ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในคราวเดียว สามารถเข้าถึงได้ง่ายแบบไม่ต้องใช้ต้นทุนอื่นๆ ประกอบ เพื่อเปิดรับความเสี่ยงเพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าการฝากเงินตามปกติ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ การออมทอง เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 'เงินเย็น' เดือนละ 1,000 ลงทุนอะไรได้บ้าง?

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ควรเริ่มต้นก่อนไปสเต็ปที่ 3 คือการค่อยๆ หาความรู้เรื่องการลงทุนให้เข้าใจในสินทรัพย์ที่จะลงทุน ก่อนตัดสินใจ เพราะการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงตามมาเสมอ 

158827375787

  •  รปภ.วัย 32 วางแผนการเงิน สร้างเงินเก็บหลักล้าน 


ตัวอย่างของแรงงาน ที่บริหารจัดการเงินได้อย่างดีและน่าสนใจเรื่องของ รปภ. วัย 32 ปี ที่สามารถสร้าง เงินเก็บหลักล้าน ได้ด้วยตัวเอง

เนื้อหาจากคลิปบรรยาย Happy Money เก็บเงินได้ ใช้เงินเป็น ละเว้นหนี้สิน ณ สสจ. สิงห์บุรี โดย จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (THE MONEY COACH) ที่ปรากฏใน Youtube มีการอธิบายถึงการวางแผนบริหารการเงินของตัวเองจนมีเงินหลักล้านได้ว่า รปภ. คนนี้ทักมาเล่าให้ จักรพงษ์ ฟังว่า เขาเรียนออนไลน์กับ THE MONEY COACH ทาง Youtube อย่างต่อเนื่อง

โดยเขามีรายได้ที่รวมเงินล่วงเวลาแล้ว 12,000 บาทต่อเดือน หางานพิเศษ รับจ้างในวันหยุด เช่น ตัดหญ้า งานช่างไม้ ซ่อมรั้ว ได้อีกเดือนละ 5,000 บาท เขาเก็บเงินบางส่วนและการส่งเงินกลับไปช่วยภาระหนี้ที่บ้านในต่างจังหวัดคล้ายกับแรงงานอีกหลายคนที่ทำงานเพื่อใช้หนี้ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ รปภ. คนนี้มีการแบ่งเงินลงทุน 2 พอร์ตด้วย โดยส่วนหนึ่งหักเงินจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ซื้อกองทุนหุ้น เพราะได้ข้อมูลจากการเรียนออนไลน์มาว่าการลงทุนในกองทุนต่อเนื่องสม่ำเสมอหลายสิบปี มีโอกาสกำไรสูงมาก และมีโอกาสขาดทุนแทบไม่มีเลย

ขณะเดียวกันก็แบ่งเงินอีกส่วนหนึ่งออมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกเดือนได้ปันผล 7-8% ต่อปี และนำไปซื้อกองทุนรวมเพิ่ม สะสมต่อไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันสินทรัพย์รวม 1.3 ล้านบาทแล้ว

แม้การมีทรัพย์สินมาก หรือไม่ได้เป็นตัวที่บ่งบอกถึงความสำเร็จหรือความสุขในชีวิต แต่กรณีศึกษาที่ยกมาในข้างต้นสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า คนที่มีรายได้ไม่สูง มีรายได้ไม่สูง หรือมีรายได้ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ ก็มีสามารถสร้างเงินเก็บในแบบของตัวเองได้ และแน่นอนว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องมีเงินหลักล้าน เพียงแต่มีเงินก้อนสำคัญอย่าง “เงินเก็บ ที่จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า วันหนึ่งหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน เช่น ขาดรายได้ หรือเจอวิกฤติที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้เจอ ก็สามารถรับมือกับมันได้ โดยไม่เป็นภาระของคนอื่น

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเก็บได้หลักล้าน หรือหลักร้อย เงินเก็บก็คือเงินของคุณในอนาคตที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าไม่มีอะไรเลย และที่สำคัญการใช้เงินของคุณในวันนี้ คือตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตของคุณในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

'คนโสด' ก็รวยได้! เปิดวิธีเก็บเงินล้านไม่ต้องง้อ 'แฟน'

4 เทคนิค 'บริหารเงิน' และ 'หนี้' ฝ่าวิกฤติโควิด-19