Funding ที่ (กำลัง) หายไป

Funding ที่ (กำลัง) หายไป

ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพดำเนินไปได้ด้วยเงินทุนจาก VC แต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายต่างได้รับผลกระทบ เนื่องจากองค์กรธุรกิจมองว่ากระแสเงินสดคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจรอดและฝ่าความท้าทายไปได้ จึงอาจโฟกัสเฉพาะสตาร์ทอัพรายเดิม และชะลอลงทุนในรายใหม่ๆ

อีกแรงกระเพื่อมของวิกฤติ COVID-19 ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพทั่วโลก ก็คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพลดลง ตัวเลขล่าสุดของการลงทุนกับสตาร์ทอัพในเอเชีย เงินลงทุนจาก VC ลดลงในไตรมาสแรกถึงจุดต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี และยังมีทีท่าที่จะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง

ผู้บริหารกองทุนรายใหญ่ๆ หลายราย อย่าง Sequoia และ Andreessen Horowitz เริ่มแนะนำสตาร์ทอัพใน Portfolio ให้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการลดค่าใช้จ่ายลงแบบมีนัยสำคัญ และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินสดอย่างระมัดระวังมากที่สุดเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน สตาร์ทอัพบางรายมีรายได้แทบเป็นศูนย์ตั้งแต่เริ่มมีการ Lockdown โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น

Travel และ Lifestyle ส่วนกลุ่มที่มีลูกค้าองค์กรหรือ B2B ถึงแม้จะยังคงมีลูกค้าอยู่ แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการใช้บริการ Enterprise Services ในหลายๆ ด้านลดลง รายงานการสำรวจของ PwC USA ช่วงต้นเดือนเมษายน ระบุว่า CFO ขององค์กรใหญ่กว่า 80% ตั้งเป้าที่จะลดการใช้งบประมาณในโครงการที่เกี่ยวของกับการบริหารจัดการทั่วไปและอาคารสถานที่ 60% มีแผนการลดต้นทุนการดำเนินงานในทุกส่วนอีกกว่า 50% มองว่าจะลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับ IT

ในวิกฤติที่องค์กรธุรกิจล้วนมองว่า กระแสเงินสดคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจรอดและฝ่าด่านความท้าทายครั้งนี้ไปได้ การลงทุนและการใช้งบประมาณจึงกลายเป็น สิ่งที่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้บริหารองค์กรใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่าในอีก 18 เดือนข้างหน้า Best Case Scenario ขององค์กร คือ ยอดขายตก ผลกำไรลดลง แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก

Base Case Scenario คือ ธุรกิจหดตัว และต้องปรับลดโครงสร้างต้นทุนและการดำเนินงานบางส่วน Worst Case Scenario ก็คือการ Restructuring ครั้งใหญ่และอาจต้องมองเรื่องการควบรวมธุรกิจเป็นอีกหนึ่งทางออก 

วาระองค์กรของแทบจะทุกองค์กรในเวลานี้ก็คือ “ต้องรักษาสภาพคล่องและตุนกระแสเงินสด” ซึ่งเกี่ยวพันกับสตาร์ทอัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเงินลงทุนของ Venture Capital คือการลงทุนเพื่อ Financial Gain ถ้าสตาร์ทอัพไม่สามารถ Exit ได้ด้วยกลไกต่างๆ เช่น IPO หรือ M&A กับองค์กรขนาดใหญ่ได้ VC ก็จำต้องชะลอการลงทุนในสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ แต่จะโฟกัสในการสนับสนุนทางการเงินกับสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Portfolio เดิมของตัวเอง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับการลงทุนของสตาร์ทอัพทั่วโลกในวันนี้ก็คือ ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ Cross-border ด้วยการจำกัดการเดินทางและ Lockdown ของ แต่ละประเทศ การทำ Due Diligence กับนักลงทุนต่างชาติจึงทำได้ยากขึ้น สตาร์ทอัพไทยบางรายตอนนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน เพราะดีลที่กำลังเจรจาอยู่กับ VC ต่างชาติ มีแนวโน้มที่จะถูกแขวนแบบไม่มีกำหนด 

สตาร์ทอัพไทยบางรายตอนนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน เพราะดีลที่กำลังเจรจาอยู่กับ VC ต่างชาติ มีแนวโน้มที่จะถูกแขวนแบบไม่มีกำหนด ขณะที่สตาร์ทอัพกลุ่ม Seed Stage ที่พึ่งพาการระดมทุนจาก Angel Investor วันนี้ก็อยู่ในจุดที่ลำบากเช่นกัน

ส่วนสตาร์ทอัพกลุ่ม Seed Stage ที่พึ่งพาการระดมทุนจาก Angel Investor วันนี้ก็อยู่ในจุดที่ลำบากเช่นกัน เพราะ Angel Investor เองก็มีความระมัดระวังและอยู่ในโหมด Wait and See มากกว่าที่เคย ที่ผ่านมานักลงทุนกลุ่มนี้จะลงทุนด้วยความเชื่อมั่นใน Founder เลือกลงทุนในสตาร์ทอัพในเซ็กเตอร์ที่ตัวเองสนใจ เพราะมองเห็นโอกาสหรือเคยอยู่ในธุรกิจนั้นมาก่อน แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้มีแนวโน้มชะลอการตัดสินใจ

จุดพลิกผันนี้อาจทำให้สตาร์ทอัพจำนวนมากต้องหันเหไปทำธุรกิจอื่นด้วย ศักยภาพและแบ็คอัพเดิมๆ ที่ตัวเองมี แต่ผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ก็คือ การขาด Pipeline ของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ที่สำคัญการจ้างงานที่จะลดลง เพราะธุรกิจเกิดใหม่คือกลไกขับเคลื่อนการจ้างงานของแรงงาน ในสัดส่วนที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มที่จะลดคนมากกว่าเพิ่ม ล่าสุดบริษัทที่วิจัยเรื่องการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Startup Genome ระบุว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่กว่า 50% กำลังเหลือ Runway ในการทำธุรกิจอีกเพียงแค่ไม่เกิน 6 เดือน

ล่าสุดบริษัทที่วิจัยเรื่องการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Startup Genome ระบุว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่กว่า 50% กำลังเหลือ Runway ในการทำธุรกิจอีกเพียงแค่ไม่เกิน 6 เดือน

ถ้าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสภาวะนี้ไปอีกกว่า 12 เดือน เราก็จะเห็นสตาร์ทอัพเหลือรอดอยู่ในตลาดจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง DeepTech เพราะสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ได้ด้วยการขายสินค้าหรือบริการ แต่เป็นการพัฒนานวัตกรรมด้วยการลงทุนจาก VC หรือ CVC

สภาวะสุญญากาศในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาระดับประเทศ แต่เป็นสิ่งที่ผู้คนในระบบนิเวศของการสร้างนวัตกรรมกำลังจับตามองเพื่อสรรหากลไกและมาตรการต่างๆ มาช่วยพยุงให้ฝ่าวิกฤติต่อให้ได้ หลายประเทศฝั่งยุโรปเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น ฝรั่งเศสมีเงินกว่า 4.3 พันล้านเหรียญ จากภาครัฐมาช่วยประคองสถานะการเงินทั้งในรูปแบบเงินกู้ เงินลงทุน หรือ Refinancing package รัฐบาลอังกฤษประกาศให้มี Future Fund ใช้เงินกว่า 250 ล้านปอนด์ เข้าไปทำ Matching Fund ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ และอีก 750 ล้านปอนด์ UK Grant สำหรับธุรกิจนวัตกรรม

ผลลัพธ์ของการยื่นมือเข้าช่วย อาจจะไม่ได้เป็นการทำเพื่อเห็นผลระยะสั้น แบบเดียวกับการเข้าอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่ แต่คือการผลักดันกลไกที่จะตอบโจทย์ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศในระยะยาว