'วันแรงงาน' ลองเทียบ ค่าแรง กับ ค่าครองชีพ ในวันนี้ กับอีก 10 ปีที่ผ่านมา

'วันแรงงาน' ลองเทียบ ค่าแรง กับ ค่าครองชีพ ในวันนี้ กับอีก 10 ปีที่ผ่านมา

ย้อนดูค่าแรงคนไทย ใน "วันแรงงาน" เปรียบเทียบกับค่าครองชีพ 10 ปี มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง เพียงพอต่อการใช้จ่าย อยู่ได้ไหมในยุคเศรษฐกิจไม่เฟื่องฟู?

ค่าครองชีพและปากท้อง เป็นหนึ่งในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคมมาตลอด เพราะทุกคนต้องเจอในชีวิตประจำวัน และมักเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเสมอในวันแรงงาน หรือ 1 พฤษภาคม ของทุกปี

โดยการที่ประชาชนผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอย่างเราๆ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น ต้องมีความสมดุลกันระหว่างค่าแรงที่ได้รับ กับค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จะต้องจ่าย ซึ่งรัฐบาลผู้มีอำนาจกำหนดอัตรากลางต่างๆ ก็ต้องคำถึงถึงความ “อยู่ได้” ของผู้คนด้วย โดยเฉพาะในสภาพสังคม และเศรษฐกิจแบบนี้ ที่คำว่า “อยู่ได้” ก็ยังไม่อาจะคาดเดาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า จะสมหวังได้หรือเปล่า

การเพิ่มขึ้นของค่าแรงรายวัน เป็นหนึ่งในปัจจัยสะท้อนว่าค่าครองชีพที่มีอยู่ในขณะนั้นเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค่าแรงรายวันจำเป็นที่จะต้องดีดตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย แม้จะเคยมีหลายคนบอกวิธีบริหารจัดการแบ่งค่าแรงรายวันกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ออกเป็นสัดส่วนให้ทำตามแล้ว แต่ก็ถือว่า “ยาก” เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายที่แม้เพียง “ค่าข้าว” ก็ยังสูงและกินพื้นที่ในสัดส่วนรายได้ที่ได้รับอยู่พอสมควร

หากลองทบทวนการขึ้นค่าแรงในกรุงเทพฯ เทียบกับการขึ้นค่าข้าวตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อาจจะมองเห็นภาพและจำนวนตัวเลขที่จะต้องเสียไปชัดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนทำ 3 ขั้นสร้างตัวจาก 'ค่าแรงขั้นต่ำ'

'วันแรงงาน' กับสิทธิตามกฎหมายที่คนค้าแรงงานต้องรู้!

มาแรงวันแรงงาน! วันแรกกดใช้สิทธิ์ 'โทรฟรี 100 นาที'

‘เราไม่ทิ้งกัน’ เปิด ‘ยื่นทบทวนสิทธิ’ ให้คนที่ยกเลิกลงทะเบียนโดยไม่ตั้งใจ แล้ว

ค่าแรงขึ้นแล้ว แต่ยังขึ้นไม่พอ

เมื่อปี 2553 กระทรวงแรงงานกำหนดให้ค่าแรงรายวันของลูกจ้างที่ใช้แรงงานในกรุงเทพฯ อยู่ที่วันละ 206 บาท ในขณะที่ถัดมาอีก 10 คือปี 2562 ค่าแรงในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 325 บาท ถือว่าเพิ่มขึ้นมาจาก 10 ปีก่อน 119 บาทหรือราว 57.7%

เราจะลองนำการปรับขึ้นของค่าแรงนี้ มาเทียบกับสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนเราทุกคนจำเป็นต้องจ่ายดู  นั่นก็คือ ค่าอาหาร แม้ค่าอาหารของแต่ละคนจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน แต่ก็จะขอหยิบเอา “ค่าข้าว” ที่แรงงานจะต้องจ่ายเป็นอย่างต่ำมาคำนวณเทียบดู อย่างราคาข้าวกะเพราหมูหรือไก่ เมนูมาตรฐานที่คนมักจะกินเป็นลำดับต้นๆ ของอาหารตามสั่ง

ค่าข้าวกะเพราเมื่อสิบปีก่อน มีราคาอยู่ที่ราว 20-25 บาท คิดเป็น 9.71% ของเงินค่าแรงรายวันในตอนนั้น (206 บาท) ขณะที่ 10 ปีถัดมา ค่าข้าวกะเพราก็ขยับมาอยู่ที่ 40-50 บาท ส่วนค่าแรงคือ 325 บาท คิดเป็นประมาณ 12-15% ของค่าแรงรายวันต่อข้าวกะเพราหนึ่งมื้อ

158825814060

แต่ในความเป็นจริง คนเราปกติที่กินข้าว 3 มื้อ ก็จะต้องจ่ายค่าข้าววันละประมาณ 120 บาท หรือ 36% ของเงินค่าแรง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เปอร์เซ็นต์ค่าข้าวที่ต้องหักออกจากค่าแรงนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่สัมพันธ์กับค่าแรงที่ได้รับในปัจจุบัน ซึ่งจากปี 2553 จนมาถึงปี 2562 ตลอด 10 ที่ผ่านมา ราคาค่าข้าวกะเพราเมนูเดิมนั้น ปรับขึ้นมากกว่าเท่าตัว คือจาก 20 บาท มาเป็น 40-50 บาท ซึ่งถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็จะเท่ากับว่า ราคาข้าวกระเพราปรับขึ้นในสิบปีนั้นสูงที่สุดถึง 150%

ที่สำคัญคือ การคำนวณนี้ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ทั้งค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ายา หรือค่าของใช้ต่างๆ เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องซื้ออยู่เรื่อยๆ ทุกเดือน

และหากจะเทียบกับการกำหนดค่าแรงรายวันในต่างประเทศ อย่าง ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2562 ระบุว่า ค่าแรงญี่ปุ่นขั้นต่ำที่สุดในจังหวัดคาโงชิมะอยู่ที่ชั่วโมงละ 761 เยน หรือประมาณ 220 บาท คิดเป็นค่าแรงรายวันที่ทำงาน 8 ชั่วโมงก็จะเท่ากับ 1,760 บาทโดยประมาณ

ถัดมาจึงมาดูที่ราคาอาหารโดยมาตรฐานของญี่ปุ่น เช่น ข้าวหน้าเนื้อ หรือราเม็ง จะมีราคาอยู่ที่ 600-800 เยน เท่ากับประมาณ​ 125-220 บาท คำนวณได้เป็น 9.3% ของค่าแรงวันละ 1,760 บาท สำหรับอาหารหนึ่งมื้อ ซึ่งถ้าคิดเป็น 3 มื้อต่อวัน ก็จะอยู่ที่ราว 28.1%

ค่าแรงขึ้นแล้ว แต่ก็นานมาแล้วในอดีต

ในอีกด้านหนึ่งของการจ่ายค่าจ้าง อัตราเงินเดือนพนักงานบริษัทเอกชนที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี ก็พบข้อสังเกตอีกเช่นเดียวกันว่า นอกจากไม่ได้มีการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำของพนักงานหรือแม้กระทั่งเด็กจบใหม่ด้วยวุฒิปริญญาตรีแล้ว เงินเดือนขั้นต่ำโดยเฉลี่ยของพนักงานจบใหม่ในบริษัทเอกชนวุฒิปริญญาตรีในรอบ 10 ปี ยังมีอัตราเพิ่มขึ้นเพียง 25% เท่านั้น คือเริ่มต้นที่ 12,000 บาทในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บาทในปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราที่คงที่เท่าเดิมมาตั้งแต่ปี 2558

หากใช้วิธีคำนวนเดียวกับการคำนวณค่าข้าวกะเพราและค่าแรงรายวัน จะพบว่า เมื่อสิบปีที่แล้ว เงินเดือนที่พนักงานจบใหม่วุฒิปริญญาตรีจะได้รับ คือ 12,000 บาท ถ้าคิดเป็นค่าข้าวทุกมื้อ 20 บาท สามมื้อต่อหนึ่งเดือนจะเป็น 1,800 บาท หรือ 15% ของเงินเดือน

ส่วนในปีปัจจุบัน เงินเดือนขั้นต่ำปรับขึ้นเป็นเดือนละ 15,000 บาท จะแบ่งเป็นค่าข้าวราคา 40 บาททุกมื้อ รวมกันหนึ่งเดือนอยู่ที่ 3,600 บาท เท่ากับว่า แค่ค่าข้าวอย่างเดียว ก็เท่ากับ 24% ของเงินเดือนทั้งหมดที่ได้รับแล้ว

แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการใช้จ่ายของพนักงานเอกชนในกรุงเทพฯ อีก นั่นก็คือสถานที่ตั้งของที่ทำงาน ที่มักจะรวมตัวอยู่ในย่านใจกลางเมือง มีการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งแน่นนอนว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก หรือแม้กระทั่งอาจไม่มีอาหารราคาต่ำถึง 40 บาท

นอกจากนี้ การที่ค่าแรงรายวันหรือเงินเดือนของประชาชนไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านอื่นๆ ได้อีก เช่น ทำให้เกิดความลำบากต่อการเก็บออม การลงทุน หรือเงินสำรองจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน

และแม้ว่าการพยายามบริหารเงินให้เหมาะสมพอใช้จะเป็นวิธีที่ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำแล้ว แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวรหากผู้บริหารประเทศในภาคใหญ่ไม่กำหนดอัตรารายได้ให้สัมพันธ์กันกับค่าครองชีพ ซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคต ค่าแรงและค่าครองชีพ อาจเริ่มขยับห่างกันมากขึ้นทุกที.

อ้างอิง: (1) (2) (3) (4)