พัฒนาฝีมือ 'แรงงาน' สู้ 'โควิด-19'

พัฒนาฝีมือ 'แรงงาน' สู้ 'โควิด-19'

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัส "โควิด-19" ส่งผลกระทบไปถึง "แรงงาน" ทั้งในและนอกระบบที่หลายคนอาจต้องเผชิญภาวะ “ตกงาน” หรือถ้ามีงานทำก็อาจจะถูกลดค่าเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน หรือลดสวัสดิการในรูปแบบอื่นๆ

หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ได้ออกมาจัดอบรมออนไลน์ หรือลงพื้นที่ไปในชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาตนเอง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ดีกว่าปล่อยให้เวลาหายไปในแต่ละวัน

เริ่มจาก “โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส” หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ) ซึ่งได้เข้าไปช่วยเหลือยกระดับทักษะอาชีพให้กับแรงงานมากกว่า 6,000 คน ในพื้นที่ 74 ตำบล 42 จังหวัดของประเทศในกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เกษตรกรรม ผู้พิการ ฯลฯ

158825052936

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กล่าวว่า แผนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน คือการค้นหาพื้นที่นวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน(Community-based) ในการยกระดับการประกอบอาชีพ และพัฒนาทักษะแรงงานของคนในชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ให้ความมั่นใจต่อการอยู่อาศัย

โดยกองทุนกสศ.ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ มุ่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพการพัฒนาคนให้เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนประเทศ

158825052766

“ปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นฐานการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีในภาคการผลิต(Disruptive Technology) จนมาถึงปัจจัยสุดท้ายอันเป็นเหมือนตัวเร่งฉับพลัน คือการระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน คนจำนวนมากจึงต้องตกงาน มีรายได้ไม่แน่นอน หลายคนจึงเลือกจะเดินทางกลับบ้านเกิด เมื่อระบบการละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่กำลังถูกท้าทาย มันจึงกลายเป็นโอกาสของชุมชนที่จะเติบโต และสร้างความเข้มแข็งด้วยนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ ๆ”ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คือ ต้องรู้จักชุมชนนั้น ๆ ว่ามีต้นทุนทางสังคมใดที่พัฒนาต่อยอดได้ ร่วมกับการวิเคราะห์ความต้องการของคนในชุมชน และต้องช่วยกันผลักดันคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชนรายใหม่ ๆ ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาท้องถิ่น ให้รับ-ส่งองค์ความรู้จากกลุ่มคนดั้งเดิมในชุมชนได้ ที่ผ่านมามีต้นแบบของชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Smart Farmer)

158825052920

จากปี 2562 ที่โครงการริเริ่มขึ้น โดยมี 42 จังหวัดจากทุกภูมิภาค กับ 74 โครงการ ทั่วประเทศ หลังดำเนินงานต่อเนื่องถึงปี 2563 ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถตอบโจทย์ปัญหาสำคัญ ๆ ได้ โดยเฉพาะการปรับตัวต่อสถานการณ์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่หลายโครงการเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง สร้างรายได้ให้กลุ่มสมาชิก และเป็นที่พึ่งพิงของกลุ่มคนที่ตัดสินใจกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะอาชีพ มองหาช่องทางสร้างรายได้ และคิดถึงการอยู่ในชุมชนต่อไปในระยะยาว

“การใช้ชุมชนเป็นฐาน ไม่ใช่เพียงทางออกในยามวิกฤติเท่านั้น แต่อนาคตยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของระบบตลาดแบบทุนนิยม ดังนั้น จึงต้องสร้างหน่วยเล็ก ๆ อย่างชุมชนให้สามารถดึงดูดหรือรั้งคนมีความรู้ความสามารถให้เขาอยู่ในชุมชนได้ แล้วเมื่อวิกฤติผ่านไป เขาไม่จำเป็นต้องกลับไปหางานทำในเมืองอีก เขาจะอยู่ได้อย่างอุ่นใจ มีความสุข เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีการผลิตคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งนั่นคือการคืนศักดิ์ศรีของความเป็นชุมชน ที่ทั้งคนในชุมชนเดิมและคนที่ต้องกลับไปอยู่บ้านสามารถภูมิใจได้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

158825052357

ขณะที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ฝึกทักษะอาชีพให้แก่ประชาชนที่อยู่บ้าน ตามนโยบายของรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ” ผ่านเว็บไซต์ http://eit.dsd.go.th/dsdtraining.php มีสาขาอาชีพให้เลือกครอบคลุมทั้งด้านงานช่างและงานบริการ 15 อาชีพ อาทิ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า

158825052615

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการฝึกอบรมผ่านออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ประชาชนที่ต้องพักอาศัยอยู่ในที่พัก ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะตนเอง เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เรียนรู้ได้ไม่จำกัดเวลา สามารถเข้าฝึกอบรมได้ทุกหลักสูตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0-2245-4035

นอกจากนั้น ทางสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โดย“ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา” ได้เปิดคอร์สสอนทำอาหารฟรี เรียนฟรีผ่านช่องทางไลฟ์สดเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/AcademicServiceCentreCDTI โดยตารางเรียนจะสอนทุกวันอังคาร และ พฤหัส ซึ่งแต่ละวันก็จะมีเมนูที่แตกต่างกันออกไป ใครสนใจก็กดไลค์เพจได้ทันที

158825052576

นายสาคร ปานจีน อาจารย์วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส และผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้าอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในชุมชนอย่างมาก ทั้งเรื่องว่างงานมากขึ้น และขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ทางโครงการ ฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องปรับแผนการพัฒนาทักษะโดยดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาฝึกอบรมทำหน้ากาก นอกจากจะปรับตามสถานการณ์แล้วการทำหน้ากากอนามัยยังเป็นการฝึกฝีมือเบื้องต้นก่อนไปสู่การตัดเย็บระดับสูง ที่คนไม่มีความรู้และไม่มีประสบการณ์สามารถทำได้

การพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งส่วนมาก็เป็นผู้ว่างงาน ไม่ว่าจะการฝึกอบรมในพื้นที่ หรือการเรียนผ่านออนไลน์ ล้วนเป็นการใช้เวลาว่างในการพัฒนาตนเอง และสร้างอาชีพใหม่ที่ทำให้เกิดรายได้รับมือกับโควิด-19 พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแก่ตัวเอง