เทียบฟอร์มรับมือโควิด ผู้นำ 'สหรัฐ-เยอรมนี'

เทียบฟอร์มรับมือโควิด ผู้นำ 'สหรัฐ-เยอรมนี'

การรับมือโควิด-19 ระบาดของทุกประเทศทั่วโลกให้ได้ผลดีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจอย่างจริงจังของประชาชนทุกคนและการสนับสนุนอย่างมากจากหน่วยงานรัฐ ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำของผู้นำประเทศ

การรับมือโควิด-19 ระบาดของทุกประเทศทั่วโลกให้ได้ผลดีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจอย่างจริงจังของประชาชนทุกคนและการสนับสนุนอย่างมากจากหน่วยงานรัฐ ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำของผู้นำประเทศ 

ล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก นำเสนอรายงานที่บ่งชี้ว่า ความตรงไปตรงมาและชัดเจนของ "แองเกลา แมร์เคิล" ในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ช่วยให้ชาวเยอรมันทั้งประเทศสามารถดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้ท่ามกลางการระบาดของโรคร้าย ผิดกับการพูดจาแบบยกตนข่มท่านของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ของสหรัฐที่มีแต่จะสร้างความสับสนแก่ชาวอเมริกัน

"แองเกลา แมร์เคิล" นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของเยอรมนี ยึดข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐกลับให้ข้อมูลหรือข้อเสนอแนะที่เร็วแต่ไม่มีความน่าเชื่อถือและบางครั้งเป็นข้อเสนอที่สร้างความตกตะลึงในหมู่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของสหรัฐ 

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีสื่อฉบับไหนเคยจับคู่ "ทรัมป์" กับ "แองเกลา" ในประเด็นเกี่ยวกับการรับมือปัญหาต่างๆ มาก่อน แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การจับตามองรูปแบบการรับมือกับปัญหานี้ของผู้นำเยอรมนีและสหรัฐทำให้เห็นว่าผู้นำทั้ง 2 คนมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งสไตล์และผลลัพธ์ของการแก้ปัญหา ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยทำให้ได้เห็นความเป็นจริงของ 2 ผู้นำนี้ชัดเจนขึ้น เช่น ทรัมป์มีแนวโน้มชอบสร้างจุดเด่นให้ตนเองและไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง ส่วนแมร์เคิล ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและมีความชัดเจนบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ 

จนถึงขณะนี้ ถือว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนีคือผู้ชนะอย่างไม่ต้องสงสัย โดยคะแนนิยมในตัวแมร์เคิลในเยอรมนีทะยานขึ้นอย่างมาก หลังจากเธอแถลงแสดงความเสียใจที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่คร่าชีวิตชาวเยอรมันจำนวนมาก พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันตอบสนองการแพร่ระบาดของไวรัส

แมร์เคิล กล่าวระหว่างการประชุมทางไกลร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศว่า ยุโรปยังคงจะต้องอยู่กับเชื้อไวรัสนี้อีกเป็นเวลานานและเยอรมนีพร้อมจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณของสหภาพยุโรปมากขึ้น

“นี่ไม่ใช่ระยะสุดท้าย แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น” ผู้นำเยอรมนี กล่าว

ส่วน "ทรัมป์" ยืนยันเมื่อช่วงเริ่มต้นเกิดการระบาดว่า สหรัฐ เตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าก่อนการระบาดจะทวีความรุนแรง โดยเฉพาะการดูแลเรื่องการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อบริเวณพรมแดนสหรัฐ และมีบุคลากรที่พร้อมรับกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าในอนาคต ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าสหรัฐมีระดับการติดเชื้อในประเทศค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก

ทรัมป์ หยิบยกการวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่ระบุว่า สหรัฐยังคงครองอันดับ 1 ประเทศที่มีการรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าดีที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศไทยก็ติด 1 ใน 10 อันดับประเทศที่พร้อมรับมือกับโควิด-19 ในการศึกษานี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอส พบว่า ชาวอเมริกันกว่าครึ่ง หมดความเชื่อถือในคำพูดของทรัมป์ เกี่ยวกับวิธีรับมือโควิด-19 และผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 100% รับไม่ได้ที่ผู้นำสหรัฐเสนอให้ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายเพื่อกำจัดไวรัส

แบบสำรวจความคิดเห็น ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย. บ่งชี้ว่า มีชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ไม่ถึงครึ่ง หรือประมาณ 47% ตอบว่ามีความเป็นไปได้สูง หรือ มีความเป็นไปได้ ที่พวกเขาจะปฏิบัติตามคำแนะนำของ ทรัมป์ เกี่ยวกับวิธีจัดการไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงถึง 15% จากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อปลายเดือน มี.ค.

นอกจากนี้ ชาวอเมริกัน 98% ยังมีความเห็นว่า พวกเขาไม่มีทางนำน้ำยาฆ่าเชื้อมาฉีดเข้าร่างกายเพื่อทำลายเชื้อโควิด โดยฐานเสียงรีพับลิกันและเดโมแครตคิดเช่นนี้ 98% เท่ากัน

ทั้งนี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยอมรับว่ารู้สึกกังวลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วสหรัฐทะลุ 1 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 58,300 คน แซงหน้าสถิติชาวอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม

แมร์เคิล ซึ่งประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อชิงชัยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเป็นเทอมที่ 5 แต่การทำงานของแมร์เคิลจะเป็นขั้นตอน เป็นระบบและส่งสารถึงประชาชนชาวเยอรมันอย่างชัดเจนเสมอ ทำให้แทบจะไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ ขึ้น

ในช่วงเริ่มต้นของการเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขทั่วโลก รัฐบาลเยอรมนี ตัดสินใจประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เป็นคำประกาศที่บอกให้ทุกประเทศทั่วโลกยอมรับทัศนะคติพึ่งพาตนเอง และแมร์เคิล ก็มีชะตากรรมแบบเดียวกับทรัมป์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ายังตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ไม่รวดเร็วพอ แต่เยอรมนี ยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลก  ส่วนยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เยอรมนีเข้มงวดด้านการตรวจหาเชื้อไวรัส 

Worldometer เว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุด ที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ณ.เวลา 07.14 น.ของวันนี้ (29เม.ย.)ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่3,136,232 รายและยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 217,799 ราย ส่วนผู้รักษาหายแล้วทั่วโลกอยู่ที่953,245 ราย

สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สูงสุดในโลกคือจำนวน 1,035,454 ราย  รองลงมาคือ สเปน  มีจำนวน 232,128 ราย อิตาลี  มีจำนวน 201,505 ราย  ฝรั่งเศส  มีจำนวน 165,911 ราย สหราชอาณาจักร  มีจำนวน 161,145 ราย และเยอรมนี  มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 159,912 ราย