คลังเตรียมให้สิทธิ์เยียวยากลุ่มตกหล่น

คลังเตรียมให้สิทธิ์เยียวยากลุ่มตกหล่น

คณะกรรมการดูแลผู้ได้รับการเยียวยาเตรียมพิจารณาพรุ่งนี้เพื่อให้สิทธิ์เยียวยาเงิน 5 พันบาทแก่กลุ่มที่ยังตกหล่น อาทิ กลุ่มเปราะบาง คนพิการ คนสงูอายุ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ คณะกรรมการดูแลผู้ได้รับการเยียวยา ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน  จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเยียวยาคนที่ยังตกหล่น ไม่ได้รับความช่วยเหลือ  5 พันบาท คือ กล่มเปราะบาง คนพิการ คนสูงอายุ คนชายขอบ และรวมถึงคนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา แต่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลย เช่น คนสูงอายุ เป็นต้น


สำหรับยอดคำขอการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา ซึ่งปัจจุบันปิดรับการลงทะเบียนแล้ว มีรวม 28.8 ล้านคำขอ  เมื่อตัดคนที่ลงทะเบียนซ้ำแล้ว จะเหลือ 24 ล้านคน  ในจำนวนนี้ไม่ผ่านเกณฑ์การยืนยันตัวตนอีก 1.7 ล้านคน เหลือ 22.3 ล้านคน

ในจำนวน 22.3 ล้านคน แบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก มีคนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองแล้ว 10.6 ล้านคน กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ขอข้อมูลเพิ่มเติม 6 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้มีคนตอบคำถามมาแล้ว 5.5 ล้านคน เหลืออีกราว 8 แสนคน กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิ์ มี 3.8 ล้านคน มีการตรวจสอบคัดกรองทุกวัน โดยมีทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่ทุกวัน


ในส่วนการโอนเงินเยียวยานั้น ใน 10.6 ล้านคนที่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาแล้ว ได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว 8 ล้านคน อีก 2.6 ล้านคน จะดำเนินการโอนในสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.นี้ อีก 4-5 แสนคน ซึ่งเพิ่งผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาและเพิ่งเข้ามาเมื่อวานนี้ ( 29 เม.ย.)จะดำเนินการโอนภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้

“ขอให้ประชาชนที่ลงทะเบียน ตรวจสอบสถานะของการลงทะเบียนของตนเองในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน.comในปุ่มตรวจสอบสิทธิ์ เพราะจะเป็นข้อมูลที่อัพเดทที่สุดและเร็วกว่า SMS ซึ่งจะส่งตามไปที่หลัง”


เขากล่าวปฏิเสธกรณีที่มีข่าวว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่มาร้องเรียนเรื่องเงินเยียวยา 5 พันบาทที่กระทรวงการคลัง ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะกระทรวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยเพื่อสอบถามปัญหา แต่กระบวนการดำเนินการจำเป็นที่จะต้องทำบนระบบ on line และลูกค้าต้องทำด้วยตัวเอง หรือให้คนช่วย Key ข้อมูล


“ความต้องการของกระทรวงการคลังในเรื่องการยื่นขอรับเงินเยียวยานั้น ต้องการให้ประชาชนดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ เพราะไม่ต้องการให้คนเข้ามารวมกลุ่มกันมากๆ อันอาจจะเป็นการแพร่เชื้อไวรัสได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของศูนย์โควิดแห่งชาติ”