ทัพหลังอเวนเจอร์สเสื้อกาวน์ สำนึกร่วมธุรกิจฝ่าสงครามโควิด

ทัพหลังอเวนเจอร์สเสื้อกาวน์ สำนึกร่วมธุรกิจฝ่าสงครามโควิด

เกมรบที่ปล่อยให้ทีมแพทย์เป็นทัพหน้า หยุดโรคระบาดโควิดเพียงฝ่ายเดียวไม่พอ เอสซีจี ใช้ใจนำผนึกกำลังแกะเพนพอยท์ทีมหมอ ปั้นนวัตกรรมห้องปลอดเชื้อ สร้างเกราะนักรบเสื้อกาวน์ ฝ่าสมรภูมิโควิดปลอดภัยไร้เชื้อ ชะลอการระบาดก่อนปิดเกมด้วยยาหรือวัคซีน

สงครามที่ยังมองไม่เห็นปลายทางจุดสิ้นสุด เพราะการต่อสู้กับโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อาจจะต้องลากยาวไม่ต่างจากการวิ่งมาราธอน โรคอุบัติใหม่กว่าจะคิดค้นยารักษาโดยตรงยังต้องรอเวลาอีกหลายเดือน ส่วนวัคซีนกว่าจะใช้กับคนได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า1ปี แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยจะอยู่ระดับต่ำ แต่การ์ดตกไม่ได้ เช่นที่สิงคโปร์ จีน ที่ยังเห็นการประทุรอบ 2 

ความน่ากลัวของเชื้อ ยังอยู่ที่ผู้ติดเชื้อ 80% อาการไม่หนัก บางคนอาจไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อได้ กลายเป็นจุดเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE-Personal Protective Equipments) ขาดแคลนทั้งโลก

ทว่า ในยามที่อุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ทีมวิศวกร และทีมออกแบบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ของเอสซีจี ได้ประเมินปัญหาและความเสี่ยง (Pain Point) ที่ทีมแพทย์ที่ต้องเผชิญ นำไปสู่การพัฒนา นวัตกรรมห้องปลอดเชื้อ” ปิดทุกจุดเสี่ยง ตั้งแต่ห้องตรวจเชื้อ เคลื่อนย้ายผู้ป่วย จนถึงห้องผู้ป่วยไอซียู ปราการป้องกันทีมแพทย์อเวนเจอร์ส หรือ “นักรบเสื้อกาวน์”

เป็นอีกครั้งที่เอสซีจี แสดงพลังของอุดมการณ์ 4 ช่วยประเทศกู้วิกฤติ ประกอบด้วย ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม

ทีมแพทย์ผู้รับมอบอุปกรณ์จากเอสซีจี อ.นพ.สุกิจ แย้มวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ สมเด็จพระเทพรัตน์ และรักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายศูนย์สนับสนุนพันธกิจ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงความร่วมมือทั้งจากภาคประชาชน เอกชน หลั่งไหลมายังโรงพยาบาลว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทุกคนช่วยกัน “ซื้อเวลา” ให้การระบาดเกิดขึ้นช้าที่สุด เพื่อให้แพทย์มีเวลาช่วยผู้ป่วยหนัก จนกว่าจะมียาหรือวัคซีค

เขาย้ำว่า แม้อัตราการติดเชื้อของไทยจะเริ่มลดลง แต่จะประมาทไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง จึงจะเอาชนะโรคอุบัติใหม่ได้ โดยประชาชนร่วมแรงร่วมใจอยู่บ้าน ขณะที่ทีมแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยหนัก ในระหว่างโรคชะลอตัว ทีมแพทย์จะขยายการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤติเพิ่มจาก10 เตียงเพิ่มเป็น 30-40 เตียง โดยมีภาคเอกชนอย่าง เอสซีจี เข้ามาร่วมมือกับทีมแพทย์ ออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ลดการแพร่เชื้อ เพื่อให้ทีมแพทย์ปลอดภัยไม่ติดเชื้อ

“ทุกคนช่วยกันซื้อเวลาให้โรคระบาดช้าที่สุด เพราะหากเกิดช่วงพีคผู้ป่วยเพิ่มรวดเดียว 300 คน จะมีผู้ป่วย(เคส)หนักต้องการไอซียู 30 เตียง จากปัจจุบันที่มีผู้ป่วยอยู่ในวิกฤติ 10 และอยู่ในวิกฤติไอซียูอีก 5 คน จะต้องต้องตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถเลือกได้ว่าจะช่วยใคร เช่นในอิตาลี และสหรัฐ จะเป็นอันตราย จึงต้องช่วยกันซื้อเวลาสักระยะ ให้คนไข้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นการฉีดวัคซีนโดยการติดเชื้อธรรมชาติช่วยเพิ่มภูมิต้านทานที่ดีกว่า”

ด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล ราชวิถี มองว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในรพ. เกิดขึ้นได้ผ่านลมหายใจที่อยู่ในละอองอากาศ (Airborne) จึงควรมีเครื่องช่วยแยกผู้ติดเชื้อ ออกจากผู้ที่เข้ามารับการรักษาในรพ. ด้วยโรคต่างๆ ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ความดัน รวมถึงผู้ป่วยฉุกเฉิน คนตั้งครรภ์ เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในรพ. ล้วนเสี่ยง รวมถึงทีมแพทย์ ควรปกป้องไม่ให้เจ็บป่วยต้องถูกแยกตัวกักตัวจะกระทบต่อกำลังพลสู้รบไวรัส

จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม 3 ชนิด คือ 1.แคปซูลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Isolation Capsule) คัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อเคลื่อนที่ได้ ช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย 2.ห้องตรวจและคัดกรอง ระบบ Smart Indoor Air Quality (IAQ Smart) มีระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศ และ 3.เต็นท์ความดันลบ (Negative Pressure) ช่วยแยกผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU) ซึ่งมีสัดส่วน 4-5% ที่ต้องเคลื่อนย้ายไปวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan -CT Scan) เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของปอดและอวัยวะต่างๆ สิ่งสำคัญคู่กับการรักษาผู้ป่วยหนัก รวมถึงสามารถตั้งโรงพยาบาลสนามได้หากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต

“นวัตกรรมห้องความดันลบและความดันบวก สามารถเคลื่อนที่และประกอบได้โดยแพทย์ ช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างปลอดภัย และยังนำผู้ป่วยทำ CT Scan ตรวจปอดได้รวดเร็ว ช่วยแยกผู้ป่วยรวมถึงทั้งทีมแพทย์ ไม่เกิดการแพร่เชื้อระหว่างทางเมื่อต้องเคลื่อนย้าย”

เบื้องหลังนวัตกรรมที่สร้างสรรค์มาจากระดมสมองทีมแพทย์ และวิศวกร ผู้ออกแบบเอสซีจี เพื่อปกป้องนักรบแนวหน้า ให้มีกำลังใจออกศึกสู้โควิด-19 จึงแปลงปัญหาเป็นนวัตกรรมห้องปลอดเชื้อจนเป็นจริงได้

“แม้ทางแพทย์พร้อมสู้ไม่ถอย แต่พวกเราเป็นปุถุชนย่อมมีความกลัวเป็นธรรมดา และทุกคนต่างมีครอบครัว แต่หน้าที่ย่อมมาก่อน เมื่อผู้อยู่บื้องหลังระดมความสามารถปกป้อง ทางเราจึงพร้อมทำหน้าที่เต็มกำลังและความสามารถ เป็นทีมนักรบแนวหน้าอันเข้มแข็ง”

ด้าน ศุภธิดา รัตนสวัสดิ์ Design Catalyst Manager ธุรกิจ เคมิคอลส์ เอสซีจี เล่าถึงเบื้องหลังอันท้าทายของการระดมสมองหลายกลุ่มธุรกิจในเอสซีจี อาทิ Medical well-being, ทีมงานออกแบบดีไซน์, ทีมงานวิศวกรรม แปลงโจทย์จากปัญหาอุปสรรคที่แพทย์เผชิญ โดยมีความเชื่อว่าความรู้ความสามารถในองค์กรจะช่วยเหลือคนในยามวิกฤติได้ โรคอุบัติใหม่ไม่เคยเจอแต่ทุกคนก็กล้าคิด และทำผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีในตลาด โดยทำกับทีมแพทย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ในเวลาสั้น และต้องทดสอบความแข็งแกร่ง และเร่งเพิ่มกำลังการผลิตอันรวดเร็วเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของรพ.ทั่วประเทศ

สิ่งสำคัญคือการดึงจุดแข็งขององค์กร มีวัสดุอุปกรณ์ แข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา เหมาะกับการเคลื่อนย้ายและติดตั้งง่ายโดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ตอบโจทย์ความต้องการรพ. ในปัจจุบัน

“ทำงานบนความท้าทายที่เต็มไปด้วยความเครียดและกดดัน จึงต้องมีสติตอบสนองการทำงานแพทย์ให้ทันท่วงที แต่ทุกคนก็ไม่มีใครบ่น เพราะทำงาน ”ใช้ใจนำ“ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชาติ และภูมิใจในการเป็นกองทัพผู้อยู่เบื้องหลังแม้ไม่รู้ว่าจะใช่หรือไม่ใช่แต่เราพร้อมเดินหน้า คิดเร็ว ปรับเปลี่ยนเร็ว ทำให้ผลงานสำเร็จและมีคุณภาพ ร่วมฝ่าวิกฤติ”

สำหรับนวัตกรรมจากเอสซีจี  ประกอบด้วย ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ,ชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring) ,ห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) ,อุปกรณ์ทางการแพทย์ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19  ,แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ (Isolation Capsule) ,ห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Isolation Chamber) ,กล่องป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย (Aerosol Box) ช่วยการใส่ท่อช่วยหายใจของบุคลากรทางการแพทย์ นวัตกรรมทั้งหมดเริ่มทยอยส่งมอบและติดตั้งไปแล้วในโรงพยาบาล (รพ.) อาทิ รพ.ราชวิถี, รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน), รพ.รามาธิบดี, รพ.9 แห่งในจังหวัดระยอง กำลังจะขยายไปยังรพ.ในต่างจังหวัด