ข่าวดี 'วัคซีนต้านโควิด' - 'เฟด' หนุนดาวโจนส์ทะยานกว่า 500 จุด

ข่าวดี 'วัคซีนต้านโควิด' - 'เฟด' หนุนดาวโจนส์ทะยานกว่า 500 จุด

ข่าวดี วัคซีนต้านโควิด-เฟด หนุนดาวโจนส์ทะยานกว่า 500 จุด นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ราคาหุ้นอัลฟาเบทพุ่งขึ้น 8.7% หลังรายงานตัวเลขรายได้ที่ลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพุธ (29 เม.ย.) พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานขึ้นกว่า 500 จุด ขานรับข่าวดีจากบริษัทกิเลียด ไซอึนส์ ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 บวกกับความหวังเฟดเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ หลังลงมติคงอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 532.31 จุด หรือ 2.21% ปิดที่ 24,633.86 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 76.12 จุด หรือ 2.66% ปิดที่ 2,939.51 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 306.98 จุด หรือ 3.57 % ปิดที่ 8,914.71 จุด

ทั้งนี้ บริษัทกิเลียด ไซอึนส์ แถลงวันนี้ว่า บริษัทได้รับข้อมูลที่น่าพึงพอใจในการใช้ยา remdesivir ซึ่งเป็นยาแอนตี้ไวรัสของบริษัท ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ผลการศึกษาการใช้ยา remdesivir ซึ่งทางบริษัทดำเนินการร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้น และผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนอย่างน้อย 50% ที่ได้รับยา remdesivir เป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50% ที่ได้รับยา remdesivir สามารถออกจากโรงพยาบาลภายในเวลา 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ราคาหุ้นอัลฟาเบทพุ่งขึ้น 8.7% หลังรายงานตัวเลขรายได้ที่ลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ข่าวดีจากบริษัทกิเลียดและการพุ่งขึ้นของหุ้นอัลฟาเบทได้ช่วยบดบังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐในวันนี้

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 4.8% ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจีดีพีติดลบ นับตั้งแต่ที่มีการรายงานว่าเศรษฐกิจหดตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2557 และเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจหดตัว 8.4% ในไตรมาส 4/2551 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐกำลังเผชิญวิกฤตการเงิน

การใช้จ่ายของผู้บริโภค การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ซึ่งไม่ใช่ที่พักอาศัย การส่งออก และสินค้าคงคลัง ล้วนเป็นปัจจัยที่ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ซึ่งเป็นที่พักอาศัย และการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ช่วยชดเชยผลกระทบดังกล่าว

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคทรุดตัวลง 7.6% ในไตรมาสแรก ขณะที่การใช้จ่ายด้านสินค้าคงทนร่วงลง 16.1% และการใช้จ่ายในภาคบริการดิ่งลง 10.2% ส่วนการส่งออกปรับตัวลง 8.7% และการนำเข้าลดลง 15.3%