โลกหลัง COVID-19 ในภาคการคลัง

โลกหลัง COVID-19 ในภาคการคลัง

มีการคาดการณ์ว่าหลังวิกฤติสิ้นสุดลงโควิด-19 สิ้นสุดลง อาจเห็นภาพหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ภาระรายจ่ายทางการคลังมากขึ้น และการเก็บภาษีมากขึ้น หากภาพรวมของโลกเป็นไปในลักษณะนั้นจริง จะมีแนวทางใดที่จะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ท่วมโลกได้บ้าง

ปัจจุบันทางการทั่วโลกต่างเร่งมาตรการการคลัง เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ทำให้เม็ดเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 7.1% ของ GDP จาก 5.7% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ในไทย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (5.9% ของ GDP) เพื่อใช้ในการบรรเทาผลกระทบ ซึ่งจะเริ่มกู้เงิน ณ สิ้นเดือนนี้

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ดังนั้นถ้าวิกฤติยิ่งแย่ เช่น การติดเชื้อรอบที่ 2 กลับมาอีก อาจทำให้เศรษฐกิจต้องปิดตัวนานขึ้น แล้วก็ต้องใช้งบประมาณเยียวยามากขึ้น

ผู้เขียนเคยคาดการณ์ว่าหลังวิกฤติสิ้นสุดลง หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ภาระรายจ่ายทางการคลังจะมากขึ้น และการเก็บภาษีจะมากขึ้น ในฉบับนี้จึงขอลงรายละเอียดว่าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ท่วมโลกเป็นเช่นไร รวมถึงเสนอแนะให้กับรัฐบาลไทยด้วย

โดยปกติแล้วเมื่อรัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น จะมี 4 วิธีในการจัดการกับหนี้ดังกล่าว

1.ขึ้นภาษีและลดรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวทางแบบปกติที่รัฐจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ที่สหรัฐและอังกฤษในช่วงหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลปรับลดรายจ่าย 3.5-6.0% ของ GDP ขณะที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 1-2% ของ GDP ขณะที่ของไทยเอง หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลปรับลดงบประมาณรายจ่ายถึง 2.6% ของ GDP ติดต่อกัน 4 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับวิกฤติ COVID ครั้งนี้ การลดรายจ่ายและเพิ่มภาษีหลังโรคระบาดจะทำได้ยาก เพราะ 1.เศรษฐกิจโลกจะโตต่ำลงและยาวขึ้น เพราะการฟื้นตัวของภาคบริการต้องใช้เวลา ขณะที่ภาคเอกชน (ทั้งครัวเรือนและบริษัท) จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น (เปลี่ยนจาก Just-in-time เป็น Just-in-case) 2.รายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ นอกจากนั้นประเด็นด้านการเมืองจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยคนสูงอายุ ทำให้แนวโน้มในการขึ้นภาษีและลดรายจ่ายด้านสวัสดิการทำได้ยากขึ้น (เพราะหากทำจริง รัฐบาลปัจจุบันอาจไม่ได้รับเลือกตั้งอีก)

2.การเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เพราะจะทำให้มูลหนี้ที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะหากรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจที่รวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP : NGDP) เติบโตได้ดีกว่าภาระดอกเบี้ย 

ตัวอย่างที่ดีได้แก่สหรัฐและอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 112% และ 259% และค่อยๆ ลดลงจนไปอยู่ที่ 26% และ 43% ในทศวรรษที่ 80 ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการกดดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ (Financial repression)

3.การผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรัฐไม่มีรายได้พอจ่ายภาระดอกเบี้ย เช่น กรีซในช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ซึ่งการผิดนัดนี้ในปัจจุบันค่อนข้างยาก เนื่องจากตลาดการเงินในปัจจุบันเชื่อมโยงกันมาก การผิดนัดย่อมทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นมาก กระนั้นก็ตาม สำนักวิจัย EIU มองว่าภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า ประเทศในยูโรโซน เช่น กรีซและอิตาลี รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น แอฟริกาใต้ บราซิล และอาร์เจนตินา มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้

และ 4.การให้ธนาคารกลางรับซื้อหนี้สาธารณะของรัฐบาล (Monetize fiscal deficit) หรือการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดการเงิน หรือ QE แบบปกติ ที่ปัจจุบันธนาคารกลางสำคัญได้ทำเป็นล่ำเป็นสัน (มากกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. สูงสุดเป็นประวัติการณ์) เพื่อป้องกันวิกฤติสภาพคล่อง (Liquidity crisis) หรือจะเป็นการเข้าซื้อในตลาดแรก (หรือที่เรียกว่า Modern Monetary Theory : MMT) เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านตลาดรอง

ข้อดีข้อหนึ่งของการทำ QE ไม่ว่าจะทางตรง-อ้อม คือสามารถกดผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลให้อยู่ระดับต่ำได้ โดยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐและเยอรมนี ลดลงจากระดับประมาณ 4% ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ มาอยู่ที่ 0.6% และ -0.4% ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการทำ QE ของทั้งสหรัฐและยุโรป ซึ่งระดับผลตอบแทนที่ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนถูกลง 

แต่ความเสี่ยงหลักหนึ่งของการทำ QE คือ หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ธนาคารกลางจะมี ทางเลือกคือ 1.หยุด QE และขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจแต่จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐและเอกชนพุ่งขึ้น หรือ 2.ยังคงดอกเบี้ยต่ำและ QE ต่อไป ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลง 

ผู้เขียนเชื่อว่าหลังจากหมดวิกฤติ COVID แล้ว ทางการทั่วโลกจะใช้การผสมกันระหว่างวิธีที่ 1, 2 และ 4 ในการจัดการปัญหาหนี้ กล่าวคือจะขึ้นภาษีบ้าง โดยเฉพาะภาษีฐานทรัพย์สิน และให้ธนาคารกลางรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลของรัฐ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบและกดผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ระดับต่ำผ่านการทำ Yield Curve Control ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงปล่อย (Tolerate) ให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างเพื่อทำให้หนี้สาธารณะลดลง

เมื่อภาพแนวนโยบายภาคการคลังของโลกเป็นเช่นนี้ แนวนโยบายการคลังของไทยก็ไม่ควรจะแตกต่างมาก โดยผู้เขียนขอเสนอแนะแนวนโยบายการคลังการเงินของไทย ดังนี้

1.แม้ว่าภาครัฐจะมี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจจาก COVID แล้วนั้น ผู้เขียนเห็นว่าในส่วน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 แบบปกติ รัฐบาลไม่ควรลดทอนงบลงทุนลง แต่ควรจะเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำลงในระดับเดียวกันกับการเพิ่มรายจ่ายลงทุน รวมถึงหยุดการว่าจ้างข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราวใหม่

2.นโยบายการเงินก็ควรสอดประสานกัน โดย ธปท.ควรลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ทำมาตรการ QE รวมถึงประกาศ Yield Curve Control เพื่อช่วยกดรายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐ ลดค่าธรรมเนียม FIDF เหลือ 0% ลงชั่วคราว ประกาศคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน นอกจากนั้น ธปท.ควรเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อให้ได้ 4-5% ซึ่งจะทำได้โดยการทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้า (NEER) อ่อนค่าลง 20% ใน 2 ปี ซึ่งการทำเช่นนั้นจะทำให้ NGDP ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และลดทอนมูลหนี้สาธารณะลงได้ 

เหล่านี้คือแนวนโยบายการเงินการคลังที่ขอนำเสนอภาครัฐ เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในโลกยุคหลัง COVID-19 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]