'เกาหลีใต้' ฟื้นเศรษฐกิจสู้ 'โควิด' อย่างไร?

'เกาหลีใต้' ฟื้นเศรษฐกิจสู้ 'โควิด' อย่างไร?

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ดูเหมือนว่า “เกาหลีใต้” ซึ่งเผชิญสถานการณ์หนักหน่วงในช่วงแรก เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตินี้ได้โดยไม่ทำให้การเติบโตของประเทศเสียหายมากนัก

เกาหลีใต้พบผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และพุ่งพรวดอย่างต่อเนื่องสูงสุดถึงกว่า 800 คนต่อวัน หลังจากไวรัสนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่สมาชิกลัทธิ “ชินชอนจี” แต่เมื่อถึงกลางเดือน เม.ย. ยอดผู้ป่วยรายใหม่รายวันกลับลดลงอย่างมากจนเหลือไม่ถึง 100 คนต่อวัน และทำสถิติยอดผู้ป่วยต่ำสุดเพียง 6 คนเมื่อวันที่ 24 เม.ย.

รัฐบาลแดนกิมจิรับมือการระบาดของโควิดด้วยการตรวจเชื้อประชาชนกลุ่มใหญ่ และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ที่เข้มงวด แต่ไม่ได้สั่งปิดภาคธุรกิจ

จิ่นห์ เหวียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ “นาติซีส์” (Natixis) วาณิชธนกิจในฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า ด้วยมาตรการเหล่านี้ ทำให้เกาหลีใต้สามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสโดยไม่สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน หลายประเทศ รวมถึงอินเดียและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทยก็เช่นกัน) ยังคงอยู่ในช่วงล็อคดาวน์โดยให้ธุรกิจที่ไม่จำเป็นปิดกิจการ และไม่อนุญาตให้ประชาชนออกมารวมตัวกันในที่สาธารณะ แต่มาตรการอันเข้มงวดเหล่านี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสกัดไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายโดยง่าย ย่อมมาพร้อมกับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เตือนว่า การยกเลิกมาตรการคุมเข้มเหล่านี้โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมมาแทนที่ จะส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

158815664438

“ผมคิดว่า โลกควรดูเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของ ยุทธศาสตร์ทางออก เนื่องจากมีกลไกต่าง ๆ มาแทนที่ในการติดตามและกักตัวผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มต้องสงสัย” เหวียนเผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซี “ผลลัพธ์คือ เกาหลีใต้เติบโตกว่าที่คาดไว้ อยู่ที่ 1.3% ในไตรมาสแรกเทียบกับปีที่แล้ว และหดตัวต่อเนื่องน้อยกว่าจีนเล็กน้อย”

ความเห็นของเหวียนมีขึ้นหลังจากปลายสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางเกาหลีใต้รายงานตัวเลขเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ในไตรมาสแรก

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ของบริษัทเอเอ็นแซด รีเสิร์ช ระบุว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโต 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังถือว่าหดตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่ยุควิกฤติการเงินโลก

  • ฟื้นตัวท่ามกลางสมรภูมิสุดหิน

ถึงกระนั้น เกาหลีใต้ยังคงเผชิญกับการต่อสู้อันยากลำบากในการกลับมาขยายตัวสู่ระดับปกติ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การส่งออกของเกาหลีใต้ร่วง 2% ในไตรมาสแรกจากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า สำหรับช่วง 20 วันแรกของเดือน เม.ย. การส่งออกดิ่งเกือบ 27% เทียบกับปีที่แล้ว และการขนส่งสินค้าทางเรือมีแนวโน้มทรุดลงอีก เนื่องจากคู่ค้ารายสำคัญ รวมถึงยุโรปและสหรัฐยังคงอยู่ในช่วงล็อคดาวน์

บรรดานักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่า การชัตดาวน์ทั่วโลกนี้จะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกของเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาส 2

“จะเกิดภาวะขาดแคลนดีมานด์ (ความต้องการ) จากภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกอีกครั้งและจะส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ในไตรมาส 2ผมคิดว่านั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เกาหลีใต้ยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล” เหวียนระบุ

กลางสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศแพ็คเกจเยียวยา 40 ล้านล้านวอน (ราว 1.06 ล้านล้านบาท) ให้กับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่น การบินและการขนส่งทางเรือ เช่นเดียวกับมาตรการคุ้มครองลูกจ้างเพิ่มเติมมูลค่า 10 ล้านล้านวอน (ราว 2.66 แสนล้านบาท)

ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของ “ซิตี้” (Citi) ผู้ให้บริการทางการเงินของสหรัฐ คาดว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลเกาหลีใต้จะสูงมากในไตรมาส 2 และการบริโภคของภาคเอกชนจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย

  • ฟื้นความต้องการในประเทศ

ขณะเดียวกัน การฟื้นความต้องการภายในประเทศถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้ ระบุว่า การบริโภคของเอกชนขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการจ้างงาน

เหวียน นักเศรษฐศาสตร์ของนาติซีส์ อธิบายว่า แม้ขณะนี้เกาหลีใต้รายงานจำนวนผู้ป่วยโควิดน้อยมาก แต่การทำให้การบริโภคกลับมาเป็นปกติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวเกาหลีมี “ความเต็มใจอยากจะช้อปปิ้ง ความต้องการบริโภค ความคาดหวังว่าอนาคตจะดีกว่าปัจจุบัน”

ขณะนี้ รัฐบาลโซลเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบางส่วนแล้ว

158815665798

ลอยด์ ชาน นักเศรษฐศาสตร์ของสำนักวิจัยอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุว่า นอกเหนือจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจของเกาหลีใต้ที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว อีกหนึ่งอุปสรรคในการฟื้นความต้องการภายในประเทศคือ “อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น”

นักวิเคราะห์ของเอเอ็นแซด รายงานว่า การฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของเกาหลีใต้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ชะลอตัวลงอย่างมาก และบรรดาคู่ค้ารายสำคัญของเกาหลีใต้ปลดล็อคดาวน์และกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็วเพียงใด

  • “เงินวอน” ยังแข็งแกร่ง

เกาหลีใต้ยังเป็น 1 ใน 3 ประเทศร่วมกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุนด้วยการจัดการค่าเงินตัวเองให้แข็งแกร่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 (อย่างน้อยก็ในเวลานี้)

จากประเทศในเอเชีย (นอกเหนือจากจีน) ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในช่วงแรก ปัจจุบัน เกาหลีใต้ได้รับคำชมอย่างมากจากการเป็นแบบอย่างในการควบคุมการระบาด

และนับตั้งแต่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการสกัดไวรัสอันเข้มงวดแล้ว สถานการณ์ในประเทศกลับตรงกันข้ามกับหลายประเทศทั่วโลก เพราะผู้คนเริ่มออกมาเข้าห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารกันอีกครั้ง รวมถึงกลับมาทำงานกันตามปกติ

ดัชนีคอสปี (Kospi) ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ฟื้นตัวกลับมาได้ เช่นเดียวกับ “เงินวอน” ซึ่งเคยอ่อนค่าแตะระดับ 1,270 วอนต่อดอลลาร์ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ก็สามารถแข็งค่าขึ้นเกือบ 5% ภายในช่วงกลางเดือน เม.ย. หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศชะลอตัวลง