คกก.โรคติดต่อฯขยายเกณ์ตรวจ'โควิด-19' ค้นหากลุ่มติดอาการน้อย

คกก.โรคติดต่อฯขยายเกณ์ตรวจ'โควิด-19' ค้นหากลุ่มติดอาการน้อย

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบขยายตรวจโควิด-19กลุ่มเสี่ยง-สถานที่เสี่ยงเพิ่ม แรงงานต่างด้าว-ผู้ต้องขัง-คนส่งอาหาร เน้นค้นหาเจอคนติดอาการน้อย-ไม่มีอาการ ตั้งเป้าตรวจได้ 5,000 คน/ล้านประชากรในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นเท่าตัว พร้อมรับทราบแนวทางผ่อนปรนกิจการ

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 29 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)เป็นประธาน โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนเต็ม ที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือร่วมใจป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 จนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ถือว่าประเทศไทยควบคุมโรคได้ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว พบผู้ป่วยรายใหม่เลขตัวเดียวติดต่อกัน 3 วันแล้ว วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องป้องกันการเข้ามาของผู้ป่วยจากต่างประเทศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนได้ออกประกาศห้ามการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศยานต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และแม้ในระยะต่อไปจะมีมาตรการผ่อนปรน ก็ต้องมีการเตรียมตัวและมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสถานการณ์จะควบคุมได้ ไม่มีการระบาดภายในประเทศอีก


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง โดยจะเน้นการตรวจค้นหาเพื่อให้เจอกลุ่มคนที่ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ เป็นการยกระดับการเฝ้าระวังที่จากเดิมจะตรวจในกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์ต้องสงสัยสอบสวนโรคเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติจากเดิมประเทศไทยตรวจราว 2,000 ตัวอย่างต่อล้านประชากร เป็น 5,000ตัวอย่างต่อล้านประชากรภายในเดือนพฤษภาคม 2563

กลุ่มคนเสี่ยงที่จะมุ่งเน้นการตรวจหาให้เจอคนที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังรายใหม่ แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ที่มีจำนวนมาก เช่น จ.สมุทรสาคร กทม. 3 จังหวัดชายแดนใต้และอื่นๆ และอาชีพเสี่ยงที่พบะปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะะ พนักงานไปรษณีย์ พนักงานส่งของเดลิเวอรี่และอื่นๆ ส่วนสถานที่เสี่ยง เช่น แคมป์ก่อสร้างที่มีการอยู่กันอย่างแออัดในเขตเมืองและพื้นที่ทั่วประเทศ และชุมชนแออัดในเขตเมือง


การตรวจหาเชื้อนั้นจะใช้การตรวจวิธีมาตรฐานเช่นเดิมคือการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี RT PCR ที่เป็นการตรวจจากตัวอย่างสารคัดหลังในทางเดินหายใจ ส่วนจะใช้วิธีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งด้วยการสวอปหรือการขากเสลดอยู่ที่ความสะดวกของการปฏิบัติงาน เช่น หากมีผู้ที่ต้องตรวจเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ก็จะใช้การเก็บจากขากเสลด สำหรับการตรวจหาภูมิต้านทานที่เป็นด้วยการเจาะเลือดหรือRapid Test นั้นไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการตรวจหาเชื้อ เพราะผลการศึกษาของกรมวิทยาศาสตรการแพทย์พบว่ากว่าภูมิคุ้มกันแต่ละคนจะขึ้นหลังติดเชื้อใช้เวลานาน 


“การตรวจนี้จะทำให้ค้นหาเจอคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เป็นการช่วยลดโอกาสการรับเชื้อหรือแพร่เชื้อ เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆแล้วคนกลับไปใช้ชีวิตหรือมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ต้องพบปะกับคนจำนวนมาก ซึ่งคนที่มีอาการน้อยๆอาจจะแพร่เชื้อและทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมากเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย”นพ.สุวรรณชัยกล่าว 


นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ ยังรับทราบข้อเสนอจากคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้นำข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนกิจการ/ กิจกรรมในการควบคุมโรคโควิด 19 หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแบ่งกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่สามารถเปิดกิจการได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กิจการ/ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผมที่ไม่มีแอร์คอนดิชัน ตลาด 2.กิจการ/กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร นวดแผนไทย 

3.กิจการ/ กิจกรรมที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา กองถ่ายภาพยนตร์ และ 4.กิจการ/ กิจกรรมที่ไม่ควรให้เปิดดำเนินการ คือสถานที่ที่เป็นที่แออัด คับแคบ ปิดทึบ มืดสลัว ทำให้มองพื้นผิวสัมผัสไม่ชัดเจน และ/หรือมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนต้องมีความใกล้ชิดกัน มีการรวมกลุ่มกัน มีการพูดคุยกันหรือส่งเสียงดัง เช่น สนามมวย บ่อน สถานบันเทิง ทั้งนี้ ทุกกิจการ/กรรมต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลทุกแห่ง ซึ่งได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทราบแล้ว