ชป.แจงปมร้องงานสร้าง 'พนังกั้นน้ำลำเซบาย' ส่อทุจริต ยันตรวจสอบได้

ชป.แจงปมร้องงานสร้าง 'พนังกั้นน้ำลำเซบาย' ส่อทุจริต ยันตรวจสอบได้

"กรมชลประทาน" ชี้แจงกรณีจนท. ปปท.เขต3 ลงพื้นที่ตรวจสอบ "พนังกั้นน้ำลำเซบา" หลังพบว่ามีการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง เบิกจ่ายค่าพัสดุไปแล้วกว่า 1.5 ล้านบาท ทั้งที่ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.63  ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า งานปรับปรุง "พนังกั้นน้ำลำเซบาย" ตั้งอยู่ที่ตำบลนาคำ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ระยะทาง 2.430 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 13 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานจ้างเหมาก่อสร้าง ด้วยวิธี E-Bidding ได้หจก.ส.พัฒนวิศวการโยธา ระยะเวลาทำการ 120 วัน สัญญาเริ่มต้นวันที่ 31 มีนาคม 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ในวงเงิน 5.5 ล้านบาท และงานจัดซื้อวัสดุ 3 งาน ได้แก่ งานเสาหลักแสดงเขตทางพนัง , งานกรวดทรายรองพื้นหินเรียง และงานเรียงหิน เป็นส่วนที่โครงการชลประทานยโสธร เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาและดำเนินการเอง

158814762312

สำหรับการจัดซื้อวัสดุที่นำมาปฏิบัติงาน โครงการชลประทานยโสธร เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีตกลงราคา โดยเริ่มจัดหาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ตามแผนการจัดซื้อจัดจ้างและแผนการปฏิบัติงาน ซึ่งวัสดุที่จัดหาได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่คลังพัสดุ บ้านหัวขัว ตำบลนาคำ อำเภอคำเขื่อนแก้ว ที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ

เนื่องจากสภาพของคันพนังกั้นน้ำเป็นทางสัญจรมีขนาดที่แคบ หากวางวัสดุไว้บริเวณดังกล่าว จะกีดขวางการปฏิบัติงานและวัสดุอาจได้รับความเสียหาย รวมทั้งกีดขวางการสัญจรไปมาของเกษตรกรและราษฎรในพื้นที่ ผู้ควบคุมงานจึงได้นำวัสดุไปเก็บไว้ที่คลังพัสดุฯ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและความปลอดภัยในทรัพย์สินของทางราชการ ปัจจุบันผู้รับจ้างได้เข้าดำเนินการปรับปรุงพนังกั้นน้ำลำเซบายแล้ว มีผลงานคืบหน้ากว่าร้อยละ 10 ของแผนงาน และจะแล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้

158814764684

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เป็นไปตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ตามนโยบายความเป็นองค์กรธรรมาภิบาล ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก มุ่งหวังพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้ประเทศอย่างยั่งยืน