สึนามิ ‘โควิด-19’ สัญญาณเตือนทุกธุรกิจ

สึนามิ ‘โควิด-19’ สัญญาณเตือนทุกธุรกิจ

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยครั้งนี้ลากยาวนานกว่า 3 เดือน ภาคเอกชนต่างออกมาระบุว่าสาหัสมากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง และเมื่อสถานการณ์จบ ก็ยังต้องเผชิญกับ After Shock ในรูปแบบของสึนามิที่เศรษฐกิจจะถดถอย

ผ่านมาเกือบ 3 เดือนนับแต่ต้นปีการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในระดับโลก ซึ่งหนักสุดในรอบ ศตวรรษ ประเทศไทยรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.บริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีทั้งมาตรการบังคับ มาตรการการคลังและการเงิน ภาคเอกชนต่างๆ ออกมาระบุว่าสาหัสมากสุด เห็นตรงกันว่ามากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540/2541 เพราะช่วงนั้นส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุน กับต่างชาติได้

อานิสงส์ลดค่าเงินบาทบวกกับเศรษฐกิจโลกยังคงดี ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดแต่ก็ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เศรษฐกิจจึงกลับคืนมาเหมือนเดิม ปัญหาที่ประสบอยู่คือ ธุรกิจส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบและมีแนวโน้มการปลดคนออกจากงาน

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นนัย เนื่องจากพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัว คาดว่าภาคส่งออกปีนี้หดตัวไม่ต่ำกว่า 8.8% ด้านท่องเที่ยว วันนี้ทั้งคนไทยและต่างชาติไม่เดินทางทำให้ตัวเลขผู้เข้าพักโรงแรมลดเหลือประมาณ 80% มีการเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งปลด เพื่อให้แรงงานสามารถไปรับเงินจากประกันสังคม สถานที่ท่องเที่ยวและชายหาดปิด แม้แต่งานสงกรานต์ปีนี้ ทางรัฐบาลประกาศยกเลิกทุกจังหวัด

ด้านการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะต่างชาติ (FDI) จากการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เดิมคาดว่าจะขยายตัว อาจต้องมีการปรับตัวเลขใหม่ไตรมาสแรกผู้ยื่นขอส่งเสริม (BOI) หดตัวถึง 44% ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจปีนี้จะหายไปมากกว่า 1.0 ล้านล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กนง.คาดการณ์ว่าจีดีพีทั้งปีจะหดตัวเหลือประมาณ 5.3% เป็นเหตุผลรัฐบาลกลัวเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรง จึงเตรียมอัดฉีดเงินและมาตรการคิวอีกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9-2.0 ล้านล้านบาท สำหรับผลกระทบด้านแรงงานจะเห็นแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบตกงานหนักสุดในรอบ 75 ปี

สอดคล้องกับองค์กรแรงงานโลก (ILO) เร็วๆ นี้ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวกระทบแรงงานทั่วโลก ขณะที่แถลงการณ์ของ UN ที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจและความเสี่ยงตกงานจะเลวร้ายที่สุด นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงวันนี้คงไม่มีใครออกมาปฏิเสธว่าจะเกิดการภาวะตกงานครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมี กรณีประเทศไทยผู้เขียนวิเคราะห์ โดยใช้ข้อมูลหลากหลายประเมินว่าการว่างงานอาจแตะ 7.5 ล้านคน (ไม่รวมครัวเรือนเกษตรกรและธุรกิจหาบเร่-แผงลอย)

สวนทางกับตัวเลขการว่างงาน ซึ่งใช้นิยามที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปัจจุบันจะยังคงเป็นอัตราต่ำ เคยมีโอกาสนำเสนอ รมว.แรงงานให้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะตามมา ตลอดจนนำเสนอให้มีการเปลี่ยนคำนิยามการว่างงานเพื่อใช้เป็นเครื่องมือดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ (คำนิยามผู้มีงานทำปัจจุบัน : ในรอบหนึ่งสัปดาห์มีงานทำเกิน 1 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงิน-ค่าตอบแทนอื่น หรือไม่ได้ค่าจ้าง ล้วนจัดเป็นผู้มีงานทำ)

ที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างเพียงเท่านี้คงเห็นได้ชัดเจนว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศรุนแรงมากกว่าที่คาด เศรษฐกิจของไทยเชื่อมต่อกับนานาชาติหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับโลกยังยืดเยื้อ ผลกระทบที่จะตามมาคือ อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น วันนี้เราอาจสาละวนอยู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดตลอดจน “Social Distancing”

แต่เมื่อสถานการณ์จบ สิ่งที่ต้องเผชิญคือ “After Shock” ในรูปแบบของสึนามิที่เศรษฐกิจจะถดถอย การฟื้นตัวต้องใช้เวลาเปรียบเทียบข้างเคียง กับสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งใช้เวลาเป็นปี งวดนี้อย่างต่ำต้องคูณด้วย 2 หรือ 3 เพราะกระทบไปทั้งโลก เศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยต่อเนื่องระยะยาว เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือรัฐบาลต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง