เบื้องหลัง 'สินเชื่อด่วน' ทำงานอย่างไร ทำไมถึงอนุมัติไว ในไม่กี่นาที!?

เบื้องหลัง 'สินเชื่อด่วน' ทำงานอย่างไร ทำไมถึงอนุมัติไว ในไม่กี่นาที!?

เปิดเบื้องหลังบริการ "สินเชื่อด่วน" หรือ "เงินกู้ด่วน" จากผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ที่มี AI อยู่เบื้องหลัง ทำให้การขอสินเชื่อง่ายราวดีดนิ้ว และเปลี่ยนพฤติกรรมการทางเงินของคนไทยไปตลอดกาล

แหล่ง “เงินกู้” เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเพิ่มสภาพคล่องที่หลายคนมองหา นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงวิกฤติ “โควิด-19” ที่หลายคนได้รับผลกระทบด้านรายได้ และการทำธุรกิจ 

ความน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ในบริการ “สินเชื่อ” ของสถานบันการเงิน รวมถึงกลุ่ม non-bank ต่างๆ คือลักษณะการบริการสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชัน ที่สามารถขอสินเชื่อ กรอกข้อมูล และรับเงิน ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่หน้าสาขาแม้แต่ครั้งเดียว 

จุดเด่นของบริการเงินกู้ด่วน คือสามารถทำได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว อนุมัติเร็ว ไม่ต้องใช้เอกสารมากมาย ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือคนค้ำประกัน เป็นบริการที่ช่วยแก้เพนพ้อยท์ของหลายๆ คนที่ต้องการกู้ยืมเงินจำนวนไม่มาก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแบบเร่งด่วน ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ที่ทุกคนจำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย 

ความเป็นจริงแล้วกระบวนการให้กู้ยืมผ่าน “แอพพลิเคชั่น” เริ่มเปิดให้บริการอย่างแพร่หลายราวปี 2561 ซึ่งเริ่มต้นมาจากการพยายามปรับตัวสู้ดิสรัปชันของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงการพัฒนาบริการ Fin-Tech (Finance + Technology) จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช้สถาบันการเงินต่างๆ ที่เข้ามาดิสรัปกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั่นเอง

158806679569

  •  “กู้เงินด่วน” ในไม่กี่นาที ทำได้อย่างไร?

ฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้บริการกู้เงินด่วนในแอพพลิเคชันสามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็วราวพลิกฝ่ามือคือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “AI (Artificial Intelligence)” หรือปัญญาประดิษฐ์  

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : AI คืออะไร จะทรงพลังแค่ไหนในปี 2020

หากจะอธิบายง่ายๆ AI คือเทคโนโลยี ที่พยายามเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ ที่มันจะทำหน้าที่เป็นสมองของเทคโนโลยีต่างๆ AI มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็ว แม่นยำ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาไปสู่การคิดต่อยอดจากข้อมูลไปเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับบริการกู้เงินด่วนผ่านแอพพลิเคชั่น AI มักจะได้รับหน้าที่ “ผู้วิเคราะห์ Big Data” หรือ “ผู้อนุมัติสินเชื่อ” ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของผู้ให้บริการแต่ละราย โดยบริการเงินกู้ด่วนผ่านแอพพลิเคชั่น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ “การเสนอสินเชื่อให้ลูกค้า” กับ “ลูกค้ามาขอสินเชื่อด้วยตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่น” 

  •  AI เสนอสินเชื่อให้ลูกค้า 

สำหรับบริการแบบเสนอสินเชื่อให้ลูกค้า AI มีหน้าที่หลักๆ คือการรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลของผู้ใช้งานในแอพพลิเคชั่น ทั้งข้อมูลทั่วไปของลูกค้า และข้อมูลพฤติกรรมการใช้เงิน เพื่อนำมาเป็นหลักในการ “เสนอสินเชื่อ” ให้ลูกค้ารายบุคคล ในวงเงินที่สอดคล้องกับศักยภาพในการผ่อนชำระคืน และเสนอสินเชื่อในห้วงเวลาที่คาดว่าลูกค้าจำเป็นต้องการใช้เงิน ซึ่งหากลูกค้าได้รับข้อเสนอจากทางธนาคาร สามารถกดรับสิทธิ์ และจะได้รับเงินเข้าบัญชีทันที อย่างไรก็ตามลูกค้าที่ได้รับข้อเสนอสินเชื่อเหล่านี้ในแอพพลิเคชัน มีสิทธิ์ที่จะรับหรือไม่รับข้อเสนอเหล่านี้ก็ได้ โดยลูกค้าแต่ละคนจะมีโอกาสได้รับข้อเสนอสินเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลของ AI ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ธนาคารกำหนด

โดยปัจจุบันบริการ “เสนอสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชัน” ในประเทศไทยมีบริการของ KPLUS จากธนาคารกสิกรไทย ที่มี KADE (K PLUS AI-Driven Experience) หรือระบบปฏิบัติการ AI ประจำหลังบ้านของกสิกรไทยที่คอยบริหารจัดการบริการสินเชื่อด่วนอยู่เบื้องหลัง 

158806681791

  •  AI วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่ขอสินเชื่อ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ 

การให้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการขอสินเชื่อจากลูกค้า คือการจัดข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ AI สามารถนำมาวิเคราะห์ตามเงื่อนไข ภายใต้ระบบบริหารจัดการความเสี่ยง ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้รอเวลาอนุมัติเหมือนกับของสินเชื่อแบบเดิมๆ 

ปัจจุบัน สินเชื่อด่วน ที่พิจารณาโดย AI เป็นบริการที่หลายสถาบันการเงิน (bank) รวมถึง non-bank ต่างๆ นำเข้ามาพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่ได้มาตรฐานเดียวกัน มีความรวดเร็วมากขึ้น และลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์

ตัวอย่างการใช้ AI ในการพิจารณาสินเชื่อที่ถูกพูดถึงในระดับโลก คือ การปล่อยกู้ด่วนของ MYBank ธนาคารภายใต้การสนับสนุนของ Ant Financial ที่มีมหาเศรษฐีอย่าง Jack Ma แห่งอาณาจักรอาลีบาบา สนับสนุนอยู่เบื้องหลังอีกทอดหนึ่ง ความพิเศษของ MYBank คือการให้ AI ประมวลผลร่วมกับคลาวด์ และ Big Data ของ Alibaba ทำให้สามารถตัดสินใจว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้ภายในเวลา 3 นาที ยิ่งไปกว่านั้น ยังคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเพียง 1% ซึ่งถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ยังใช้ระบบบริหารจัดการสินเชื่อแบบเดิมซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า

ระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่นี้ ทำให้ MYBank สามารถปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดเล็กได้มากถึง 16 ล้านแห่ง คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน หรือราว 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลา 4 ปีนับตั้งแต่เปิดให้บริการ 

นอกจาก MYBank แล้ว ในประเทศไทยก็มีบริการลักษณะคล้ายๆ กันนี้ เช่น

- บริการ Krungsri IFIN ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่สามารถขอสินเชื่อด่วนได้ผ่านแอพพลิเคชั่น KMA (Krungsri Mobile App) ของธนาคาร ตลอด 24 ชั่วโมง

- บริการสินเชื่อด่วน สำหรับผู้ค้าออนไลน์ ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เปิดโอกาสให้ขอสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่น SCB Easy ที่เคลมว่าสามารถรับเงินได้ภายใน 3 นาที ฯลฯ

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การใช้พิจารณาให้สินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) คือ "พฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้า" หากคุณเป็นลูกค้าชั้นดี มีประวัติการผ่อนชำระตรงเวลา มีเงินหมุนเวียนบัญชีสม่ำเสมอ หรือมีประวัติทางการเงินที่ดี ย่อมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ประวัติการใช้เงินที่ไม่ดี เพราะไม่ว่าจะเป็น AI หรือพนักงานที่มีชีวิตจิตใจ ย่อมมองหาลูกค้าที่มีแนวโน้มจะเป็น “ลูกหนี้ชั้นดี” ในอนาคตกันทั้งนั้น