นพ.เฉลิมชัย ย้ำผ่อนคลายมาตรการ ต้องมั่นใจคุมได้

นพ.เฉลิมชัย ย้ำผ่อนคลายมาตรการ ต้องมั่นใจคุมได้

นพ.เฉลิมชัย ชี้ ความรู้กสึกกับความจริงต่างกัน ย้ำผ่อนคลายมาตรการ ต้องมั่นใจคุมได้ หากพลาดเกิดระบาดรอบ 2 ยอดผู้ติดเชื้อ-ผู้ตายจะพุ่ง ชี้ไม่ควรจะเร่งผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไปและมากจนเกินไป

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 63 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chalermchai Boonyaleepun โดยเนื้อหาระบุว่า ...

“การผ่อนคลายมาตรการ : ความรู้สึก และ ความจริง”

ความรู้สึกของผู้คนจำนวนหนึ่งต่อสถานการณ์โรค COVID-19 ในประเทศไทยมีดังนี้

1) อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ดูจะลดน้อยถอยลง เราน่าจะควบคุมโรคนี้ได้

2) อัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย ความรุนแรงของเชื้อในเมืองไทยน้อยหรือระบบสาธารณสุขเราดีรับมือไหว

3) แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนระบบสาธารณสุขเราดีมาก ดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศ คงจะรับมือสถานการณ์ไหว

4) ประชาชนให้ความร่วมมือดี มีความรู้ความเข้าใจและมีวินัยสูง

5) ประเทศเราจึงน่าจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงได้ ไม่น่าจะมีการระบาดรอบสอง และถ้ามีการระบาดรอบสองจริง ประเทศไทยเราก็น่าจะรับมือไหว เพราะเราเคยควบคุมโรคระบาดนี้ได้มาแล้ว

ความจริงที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดครั้งนี้ มีดังนี้

1) COVID-19 มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้กว้างขวางและรวดเร็วกว่าที่เราเคยประมาณการไว้ เพราะไวรัสนี้สามารถแพร่จากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้ และในผู้ที่แสดงอาการช่วงแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ค่อยรู้ตัว และยังคงสามารถไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ จึงเกิดการแพร่เชื้อกว้างขวาง

2) COVID-19 มีระยะฟักตัวที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในลักษณะขยายเวลามากขึ้น วงการแพทย์กำลังติดตามใกล้ชิด อาจทำให้มาตรการกักกันผู้ติดเชื้อต้องเข้มข้นและขยายเวลามากขึ้น

3) COVID-19 มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกๆ ของจีนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3% ขณะนี้ค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 7%

4) ระยะห่างของละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย จากการไอ,จาม,พูด ที่ส่งผลต่อผู้อื่นให้ได้รับเชื้อนั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1 เมตร เป็น 2 เมตร

5) ในประเทศที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีวินัยและให้ความร่วมมือดี เมื่อควบคุมโรคให้สงบลงได้ และเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง ก็พบว่าเกิดการระบาดรอบสองซึ่งรวดเร็วและรุนแรงกว่ารอบที่หนึ่ง ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นและมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าเดิม ตัวอย่างคือ สิงคโปร์และญี่ปุ่น

6) จำนวนเตียงผู้ป่วยอาการปานกลางของไทยที่จะรองรับได้อยู่ในระดับหมื่นต้นๆ จำนวนเตียงผู้ป่วยหนัก (ICU) พร้อมเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) ที่จะรองรับผู้ป่วย COVID-19 ได้อยู่ในระดับ 2-3 พันราย

ทั้งความรู้สึกร่วมกับความจริงดังกล่าว การจะผ่อนคลายมาตรการใดๆ ลง (ไม่ช้าก็เร็วประเทศเราก็ต้องผ่อนคลายมาตรการลงบ้าง) จึงต้องมีความมั่นใจว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่อาจจะเกิดเพิ่มขึ้นนั้น เราจะต้องทำการหยุดยั้งให้ทัน ไม่ให้มีผู้ป่วยเกิน 1-2 หมื่นราย และไม่ให้มีผู้ป่วยหนักเกิน 2-3 พันราย เพราะถ้าเราพลาดแล้วคุมไม่อยู่จนจำนวนผู้ป่วยเลยขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขแล้ว อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยหนักจะก้าวกระโดด (จากปัจจุบัน 1.75%) ขึ้นไปในระดับ 7-12% เหมือนค่าเฉลี่ยของสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ที่มีผู้ป่วยที่ไม่ควรเสียชีวิตแต่ต้องเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ และคนที่ป่วยในโรงพยาบาลที่มีอาการหนักก็ไม่มีเครื่องช่วยหายใจที่เพียงพอ ตลอดจนจำนวนบุคลากร เครื่องมือเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็จะไม่เพียงพอ เรื่องจะไปไกลถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวบุคลากรก็ไม่เพียงพอทำให้บุคลากรเองต้องติดเชื้อ ยิ่งทำให้บุคลากรมีไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยซึ่งจะเป็นวงจรที่น่ากังวลมาก

การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงบ้างคงมีความจำเป็น แต่ต้องผ่อนคลายบนข้อมูลความจริงที่เราแน่ใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะถ้าพลาดไปแล้วทุกคนจะกลับมาคิดย้อนหลังเสียดายว่า เราไม่ควรจะเร่งผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไปและมากจนเกินไป

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
วันที่ 28 เมษายน 2563