ปรับ ‘มายเซ็ท’ ฝ่าวิกฤติ - เปิดใจรับเทคฯ ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง

ปรับ ‘มายเซ็ท’ ฝ่าวิกฤติ - เปิดใจรับเทคฯ ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง

องค์กรต้องปรับยุทธศาสตร์ทุกมิติเพื่อเร่งทรานสฟอร์มรับบรรทัดฐานใหม่ของโลกธุรกิจ

ปรับกรอบความคิดรับเทคฯหนุนองค์กร

การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ ส่งผลให้การทำงานภายในองค์กรแบบเดิมๆ เปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากองค์กรต้องการทักษะการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่หลายองค์กรอาจประสบปัญหาไม่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะบุคลากรปรับตัวไม่ทันหรือไม่ยอมปรับตัว

และเมื่อองค์กรต้องการที่จะ ทรานส์ฟอร์มตัวเอง สิ่งที่ต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญเพื่อสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จ คือ การบ่มเพาะเรื่องการพัฒนาคนและปรับทัศนคติใหม่ให้บุคลากรพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า เทคโนโลยีไม่ใช่การคุกคามหรือเป็นอุปสรรค แต่เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยี โดยวิธีในการปรับกรอบคิด (Mindset) เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ของคนในองค์กรช่วงที่ต้องก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลง มีหลายหลายวิธี อาทิ

1.ออกแบบแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงด้วยการให้รางวัลหรือผลตอบแทน (Incentive) ที่จับต้องได้ การกระตุ้นหรือการใช้สิ่งจูงใจจะทำให้บุคลากรเกิดพฤติกรรมที่เต็มใจและกระตือรือร้นเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฉะนั้นองค์กรควรจัดทำแผนหรือโปรแกรมต่างๆในการจูงใจเพื่อให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ เงินรางวัล คะแนนพิเศษ โบนัส ฯลฯ

2.โน้มน้าวพนักงานให้เกิดความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้กับบุคลากรว่าทำไมถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน โดยพวกเขาต้องร่วมทัพเดินหน้าไปด้วยกันกับเป้าหมายและวิธีการใหม่ขององค์กร

3.ส่งเสริมทักษะบุคลากรให้พร้อม องค์กรจำเป็นต้องดูแลและสร้างคนทำงานที่พร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการลงทุนในเรื่องของการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน องค์กรอาจเลือกวิธีพัฒนาบุคลากรผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจโดยให้พนักงานทดลองปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างเหมาะสม

4.ปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น โดยแยกส่วนงานที่ต้องเฟ้นหานวัตกรรมใหม่ออกมาจากบริษัทหลัก ปัจจุบันการทำงานจำเป็นต้องการความรวดเร็วและยืดหยุ่นเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาหรือเฟ้นหานวัตกรรมใหม่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นจึงเห็นการจัดตั้งองค์กรย่อยเฉพาะขึ้นมาเพื่อรับมือกับ Disruption 

ตัวอย่างเช่น เอสซีบี 10เอ็กซ์ ที่แยกออกมาจากเอสซีบี เพื่อลงทุนและพัฒนาธุรกิจด้านดิจิทัล เทคโนโลยี หรือ เคแบงก์ จัดตั้งเคบีทีจี (KBTG) เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในหมวดของฟินเทค รวมทั้งเอสซีจี ที่ร่วมกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนตั้ง SCG-CAS ICCB Innovation Hub เพื่อขยายขอบเขตค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยี ตอบโจทย์ผู้บริโภค

ทักษะจำเป็นของบุคลากรยุคแห่งการผันผวน

บางองค์กรอาจคิดว่าบุคลากรของตนมีความพร้อม มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่นั่นไม่อาจการันตีได้อีกต่อไป เพราะทักษะหรือองค์ความรู้ในอดีตอาจไม่เพียงพอสำหรับอนาคต

จากผลการวิจัยของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ในอาเซียน พบว่า อายุไขความรู้ในปัจจุบันอยู่ที่ 9 ปี หมายความว่าหลังจากปีที่ 9 ความรู้ที่มีอยู่ในวันนี้อาจไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในอนาคต ทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับทักษะที่ชื่อว่า Life-long learning มากขึ้น

ทักษะดังกล่าวรวมถึงเรื่องการยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว การสร้างวัฒนธรรมให้บุคลากรกล้าที่จะก้าวออกจาก คอมฟอร์ท โซน ของตัวเองมาทำสิ่งใหม่ เช่น กูเกิลให้รางวัลโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในบริษัท แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นการบอกกับพนักงานทางอ้อมให้กล้าออกมาทำอะไรใหม่ๆ แม้มันจะล้มเหลวก็ตาม และเลือกที่จะยอมรับมันควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากความล้มเหลว

นอกจากนั้น ทักษะที่สำคัญในยุคที่การเปลี่ยนแปลงต้องเคลื่อนเป็นขบวนคือ ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น พร้อมที่จะเปิดใจและรับฟังสิ่งที่แตกต่างจากความคิดของตนเองอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างและปลูกฝังเรื่องของ ไลฟ์-ลอง เลิร์นนิ่ง ยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายองค์กร 

“โดยธรรมชาติของคนทั่วไปจะชอบในสิ่งที่คุ้นเคย และกลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งขององค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานในการสร้างวัฒนธรรมและทักษะที่จำเป็นสำหรับคนในองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน” พชร กล่าว