กพท.หวังอุตฯ การบินรอดพิษโควิด ธุรกิจฟื้นไตรมาส 4

กพท.หวังอุตฯ การบินรอดพิษโควิด ธุรกิจฟื้นไตรมาส 4

กพท.ขยายประกาศห้ามอากาศยานพาณิชย์บินเข้าไทย 1-31 พ.ค.นี้ หนุนแก้ไขโควิด -19 ระบาดเพิ่ม ประเมินอุตฯ การบินปีนี้ขยายตัวเพียง 20% หวังฟื้นไตรมาส 4 ขณะที่ภาพรวมผลกระทบ พบเที่ยวบินยกเลิกสะสมกว่า 1.4 แสนไฟล์ต

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4) เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD 19) รุนแรงมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว โดยห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 เวลา 0.01 น. จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 23.59 น.

นายจุฬา ยังกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมการบินทั้งปี 2563 เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ยังต่อเนื่องไม่หยุด ทำให้คนทั่วโลกหยุดการเดินทางทางอากาศ คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจจะลดเหลือ 20% เบื้องต้นประเมินว่าธุรกิจสายการบินอาจจะกลับมาดีขึ้น และเริ่มทำการบินในช่วงตารางบินฤดูหนาวในเดือน ต.ค.นี้ หรือภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในยุโรปเริ่มลดลง รวมทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจ

รายงานข่าวจาก กพท.ระบุว่า ภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เดือน เม.ย. 2563 หรือระหว่างวันที่ 12-18 เม.ย. 2563 ส่งผลให้สายการบินลดจำนวนการขายที่นั่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนที่นั่งในช่วงดังกล่าว พบว่าลดลงทั้งสิ้น 59,243 ที่นั่ง หรือลดลง 36.1% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า และไม่มีการขายที่นั่งในเส้นทางระหว่างประเทศไปยังภูมิภาคออสเตรเลีย โอเชียเนีย เอเชียกลาง และอเมริกา

ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศ พบว่ามีสถิติลดลงเหลือเพียง 7,223 คน หรือลดลง 51.8% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก และอัตราร้อยละการบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor: PLF) ของผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 7% น้อยที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้โดยสารภายในประเทศ พบว่ามีจำนวนเพียง 17,304 คน ลดลง 47.7% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

รายงานข่าว ยังระบุด้วยว่า ปริมาณเที่ยวบินที่ขอจัดสรรเวลาการบินก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์โควิด-19 พบว่ามีปริมาณเที่ยวบินที่ยกเลิกสะสม ณ วันที่ 20 เม.ย. 2563 จำนวน 144,201 เที่ยวบิน คิดเป็น 26.9% ของปริมาณเที่ยวบินที่ขอจัดสรรเวลาบินตามกำหนดการบินฤดูร้อน 2563

อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เม.ย. 2563 พบว่ามีสายการบินที่ให้บริการในไทยจำนวน 2 สายการบิน ซึ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการในเส้นทางประจำภายในประเทศ ประกอบไปด้วย สายการบินนกแอร์และสายการบินไทยเวียดเจ็ต ส่วนเส้นทางบินประจำระหว่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินใด กลับมาทำการบิน และจะยังคงไม่มีอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ ตามประกาศของ กพท.ฉบับล่าสุด