CPTPP คืออะไร ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้

CPTPP คืออะไร ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้

ทำความรู้จัก "CPTPP" คืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ถ้าประเทศไทยเข้าร่วมจริงๆ ใครจะได้ประโยชน์ ใครจะเสียประโยชน์จากเรื่องนี้

CPTPP กลายเป็นคำถามสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสังคม หลังจากที่หลายภาคส่วนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมอนุมัติลงนามใน ข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ CPTPP

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ ส่งผลดีต่อกลุ่มทุนยิ่งได้กำไร อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

สิ่งที่ยิ่งกลายเป็นความกังวลมากขึ้นไปอีกก็คือ รายละเอียดใน รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า หากรัฐบาลลงนามในสนธิสัญญาใดๆ กับต่างประเทศ ที่มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน อย่างกว้างขวาง ให้รัฐสภาพิจารณาภายใน 60 วัน แต่ถ้าพิจารณาไม่ทัน ให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่บังคับให้รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนทราบอีกด้วย เพียงแต่ให้มีการแสดงความเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นเท่านั้น

158796626444

ภาพจาก Pixabay

ชนวนเหตุของเรื่องนี้อยู่ที่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบที่จะนำไทยเข้าเป็นประเทศหนึ่งที่ข้อตกลง CPTPP เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า จากข้อตกลงนี้ ไทยจะได้มากกว่าเสีย ก่อนที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวด้วยในช่วงเดือนเมษายน

ก่อนที่ รมว.พาณิชย์จะถอนออกจากวาระ ครม.แล้วในช่วงเย็นของวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยให้เหตุผลว่า ยังมีข้อกังวลบางประเด็นของ CPTPP อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การเปิดตลาดให้กับสินค้าใช้แล้วที่นำมาปรับปรุงสภาพเป็นของใหม่และการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบัน อาจจะไม่เหมาะสมกับเวลา จึงเห็นขอถอนเรื่องออกไป

    

  • CPTPP คืออะไร

SCB Economic Intelligence Center ให้รายละเอียดไว้ว่า CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

158796634549

ภาพจาก Pixabay

ข้อแตกต่างระหว่าง CPTPP กับ TPP นั้นอยู่ตรงที่ขนาดของเศรษฐกิจ และการค้าที่เล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น มีรายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15%

ขณะที่รายละเอียดในกฎหมายบางข้อถูกระงับไป อาทิ ข้อบัญญัติ (provision) 22 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ สนับสนุนมาก แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมยา การขยายระยะเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปีเป็น 70 ปี และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ เป็นต้น

  • ประเทศไทยได้อะไร - เสียอะไร จากการเข้าร่วม CPTPP

จากการที่ประเทศไทยพึงพิงการส่งออก-นำเข้าเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าสูงถึง 123% ของ GDP ทำให้ปัจจัยเกื้อหนุนของไทยจาก CPTPP นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 เรื่องดังนี้

การส่งออก

CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดา และเม็กซิโกที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ราว 2 % เป็นสินค้าจะพวก อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น

การลงทุนจากต่างประเทศ

ที่จะการเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP

ความสามารถทางการแข่งขัน

CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่น และชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

158796698857

ภาพจาก Pixabay

ขณะเดียวกัน ก็จะมี 2 ธุรกิจของไทยที่โดนผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP คือ

ธุรกิจบริการ

ภาคบริการนั้น CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป

อุตสาหกรรมเกษตร

มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้ว จะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น

  • ข้อกังวล 5 ประการเกี่ยวกับ CPTPP กับประชาชนคนไทย

iLaw ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบของ CPTPP กับประชาชนชาวไทยที่น่ากังวลอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน คือ

1.ประเทศไทยต้องการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991

ซึ่งจะห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรพยายามผลักดันมาหลายครั้ง รวมทั้งพยายามผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ด้วย แต่ว่าในที่สุดก็ถูกเสียงคัดค้านจากประชาชนจนไม่สามารถทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้า CPTPP จะบังคับให้ความตกลงต่างประเทศมาบังคับให้กฎหมายในประเทศเป็นไปตามนั้น

2.ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรมในการจัดซื้อยาของภาครัฐ

อีกทั้ง ต้องให้รัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการอุดหนุน/ให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่า รัฐวิสาหกิจมีพันธกิจทางสังคม เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ยารักษาโรค สินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่ต้องดูแลสังคมให้ประชาชนเข้าถึงด้วย จะทำอย่างไร ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้ จะกลายเป็นว่า เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงน้ำประปา ไฟฟ้า และยารักษาโรค

158796712772

3.ต้องปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เนื่องจากไทยกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าที่ CPTPP กำหนด โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก แม้จะเป็นแค่การปรับแก้ประกาศที่เรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่ม แต่จริงๆ แล้วส่งนัยยะต่อไปการออกกฎหมาย ระเบียบและกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้ หากมันเกินขอบเขตที่ CPTPP กำหนด

4.การคุ้มครองการลงทุน และการให้เอกชนฟ้องร้องภาครัฐ หรือที่เรียกว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS)

ที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยชัดเจนว่าคุ้มครองการลงทุน ที่เป็นการลงทุนโดยตรงหรือลงทุนจริงเท่านั้น แต่สิ่งที่ไทยต้องยอมรับหากจะเข้า CPTPP คือ การลงทุนใน portfolio หรือการลงทุนโดยการซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตอนนี้คดีของวอลเตอร์ บาวกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ก็เป็นแบบนี้เพราะนักลงทุนไม่ได้รับการอนุมัติการคุ้มครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาอ้างขอรับการคุ้มครองการลงทุน

5.ประเทศไทยต้องยอมรับการที่จะให้สินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (remanufactured goods)

โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ อันนี้จะเท่ากับเอาขยะเครื่องมือแพทย์มาทิ้งที่ประเทศไทย เพราะในความตกลงฯ ระบุว่า "ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว" ขณะที่ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจสอบในเรื่องนี้ ถ้ารับมาแล้ว ใช้ได้ไม่นานก็ไม่ต่างกับรับซากเครื่องมือเหล่านี้มาทิ้งที่ประเทศไทย