‘เซ็นเทล’ชี้เทรนด์M&Aช่วงโควิด ทุนจีนลุยช้อปโรงแรม-อสังหาฯ

ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวช่วงโรคโควิด-19 ยังระบาด แม้อัตราการติดเชื้อเริ่มชะลอบ่งบอกสัญญาณที่ดี แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน หากประเทศไหนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้และมียารักษาดี เศรษฐกิจก็จะฟื้นก่อนด้วย “Domestic Demand” หรือการใช้จ่ายภายในประเทศนั้นๆ
นอกจากนี้จะเห็นภาพของนักธุรกิจและนักลงทุนบางส่วนที่มองเห็นโอกาสว่าช่วงนี้ต้องพยายาม “หาซื้อของถูก” ด้วย!
รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นเทล เล่าว่า ขณะนี้นักธุรกิจเริ่มสนใจดีลการลงทุนควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) โดยเริ่มมีบางบริษัทจากประเทศจีนมาศึกษาเพื่อซื้อกิจการในไทยแล้ว
“อย่างโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในไทยตอนนี้ก็ประกาศขายกันมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ เช่น แถวสุขุมวิท รวมถึงภูเก็ต สมุย และพัทยา ตามลิสต์ที่นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ส่งมาให้ดู โดยหลายแห่งประกาศขายก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่แล้ว แต่พอมีโควิดก็เลยกลายเป็นต้องการขายมากขึ้น เพราะเจ้าของโรงแรมคงทนไม่ไหว อัตราเข้าพักเป็นศูนย์ อาจจะไม่อยากแบกรับแล้ว ก็เลยเปิดตัวว่าพร้อมขายโรงแรมเต็มที่”
ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ของทั่วโลกจะถูกหมด ทำให้ช่วงนี้ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับเงินสดเป็นหลัก เข้าสูตร Cash is King มากขึ้น แต่การขายโรงแรมก็อาจจะไม่ได้ง่าย เพราะว่าคนที่มีเงิน เขาก็จ้องจะซื้อของถูก ต่อราคาแล้วต่อราคาอีก เป็นไปตามอำนาจต่อรองของผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย
ขณะที่ในช่วงวิกฤตินี้ ธุรกิจโรงแรมเองก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอด และมุ่งให้บริการแบบดิลิเวอรี่มากขึ้น อย่างห้องอาหารในโรงแรม ในเมื่อให้บริการเสิร์ฟบนโต๊ะภายในร้านไม่ได้ ก็ต้องสร้างสรรค์เมนูอาหาร และตั้งราคาไม่แพงนักในราคาเริ่มต้นที่ 80 บาทขึ้นไป เพื่อรองรับความต้องการซื้ออาหารในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ตรงนี้ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น
นอกจากนี้ธุรกิจอาหารในเครือ CRG (Central Restaurant Group) ของบริษัทฯ พบว่ายอดการสั่งซื้อแบบดิลิเวอรี่ผ่านร้าน KFC เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เติบโตถึง 25% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ช่วยชดเชยยอดขายตามหน้าร้านซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้าซึ่งถูกปิดให้บริการได้ในระดับหนึ่ง
“พวกดิลิเวอรี่แพลตฟอร์มจะเติบโตดี งบสิ้นปีของแกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า และลาล่ามูฟน่าจะดูดีขึ้น และเป็นตัวผลักดันให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน กลายเป็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งดิสรัปทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้บริการดิลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น”
และทำให้ธุรกิจที่มียอดขายจากขนาดธุรกิจ (Size) จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการขาย อย่างในช่วงที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ก็มีสีสันการขายของธุรกิจอาหารที่เป็นกิมมิคน่าสนใจ เช่น การขายสุกี้หรือปิ้งย่างแถมหม้อกระทะไฟฟ้า ระบบพวกนี้จะพยายามเสิร์ฟลูกค้าถึงบ้านมากขึ้น และเมื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แม้คนจะอยากออกเดินทางไปทานข้าวนอกบ้าน แต่ก็จะมีบางส่วนติดใจสั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น
รณชิต เล่าเพิ่มเติมว่าจากประสบการณ์ในธุรกิจโรงแรม หลังจากเกิดเหตุสึนามิและโรคซาร์ส 6-9 เดือน ถ้ากลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร คนจะเดินทางทะลัก เพราะนักท่องเที่ยวอัดอั้น อยากออกไปเที่ยวมานาน ถ้ามีข่าวดีเรื่องวัคซีนและควบคุมโรคได้ กระแสการเดินทางก็จะเริ่มต้นด้วยตลาดในประเทศ ก่อนขยายไปยังตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัทฯยังคงเดินแผนรีโนเวตโรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ สมุย ซึ่งรีแบรนด์ใหม่เป็น เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ให้ทันตามกำหนดเวลา ขณะที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ภายใต้การร่วมทุนระหว่างเซ็นทารา เจแปน กับบริษัทก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ 2 รายในประเทศญี่ปุ่น ได้ทำพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking) เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนโครงการพัฒนาโรงแรมอื่นๆ หากในประเทศนั้นๆ มีการล็อคดาวน์ ก็ไม่ได้เร่งรัดการก่อสร้าง
ส่วนแผนการทำตลาด บริษัทฯได้จัดเตรียมแผนเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการจองห้องพักล่วงหน้า เช่น จองห้องพักวันนี้ แต่สามารถมาพักหลังจบโรคโควิด-19 ได้ พร้อมติดต่อกับสายการบินและบริษัทนำเที่ยวต่างๆ เพื่อทำแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบ All Inclusive ร่วมกันเหมือนในอดีตที่เคยเจอวิกฤติมา รวมถึงการจัดแกรนด์เซลล์ลดราคาครั้งใหญ่ในช่วงใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!
'ออมสิน' เปิดลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' 23 ม.ค.เคยกู้ 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ก็กู้อีกได้!