15 Checklists แนวปฏิบัติผู้ลงทุนในสถานการณ์โควิด

15 Checklists แนวปฏิบัติผู้ลงทุนในสถานการณ์โควิด

ส่อง 15 เช็คลิสต์แนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบันในประเทศไทย ในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทาง PRI เพื่อจัดการประเด็น ESG ในระยะสั้น และปรับวางแนวการฟื้นตัวในระยะยาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่การดำรงชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก วิกฤติด้านสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และยังรวมไปถึงการทำให้เกิดความผันผวนของตลาดทุนและการลงทุนทั่วโลก

หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ได้จัดตั้งกลุ่มการร่วมทำงานระดับภาคี (Signatory Participation Group) เพื่อประสานงาน และพัฒนาแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการรับมือสถานการณ์ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในระยะสั้น และกลุ่มการปรับวาง ระบบด้วยการให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

ในกลุ่มแรก เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เป็นภยันตรายด้านวิกฤติสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นด้านสุขภาพจิต

ในกลุ่มที่สอง เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบการเงินอนาคตที่พร้อมรับภัยคุกคามทางการเงินที่เกี่ยวข้อง กับประเด็น ESG และให้ลำดับความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะภาคีที่เข้าร่วมลงนามรับรองหลักการของ PRI ได้ประมวลแนวทางรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยอ้างอิงจากเอกสารของ PRI ที่มีชื่อว่า How Responsible Investors Should Respond To The COVID-19 Coronavirus Crisis สำหรับให้ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศไทยได้นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อดูแลจัดการประเด็น ESG ในระยะสั้น และปรับวางแนวการฟื้นตัวที่ให้ผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

รายการตรวจสอบ หรือ Checklist 15 รายการที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบันในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทาง PRI ประกอบด้วย

แนวปฏิบัติที่ 1 สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ

แนวปฏิบัติที่ 2 ใช้ข้อมูล ESG จากแหล่งภายนอกที่น่าเชื่อถือ เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ต่ำกว่าเกณฑ์

แนวปฏิบัติที่ 3 ผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงานผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว

แนวปฏิบัติที่ 4 สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ใช้การปิดบังวิกฤติเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือฉวยโอกาสตัดสินใจหรือประกาศ ในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ

แนวปฏิบัติที่ 5 ประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่ลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แนวปฏิบัติที่ 6 ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทในช่วงสถานการณ์ โดยเน้นที่ประเด็นโควิด-19 เหนือประเด็นอื่นในระหว่างการจัดการวิกฤติ

แนวปฏิบัติที่ 7 ปรึกษาหารือกับบริษัท และสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่อแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการ

แนวปฏิบัติที่ 8 แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

แนวปฏิบัติที่ 9 ใช้สิทธิออกเสียง ในฐานะผู้ถือหุ้น ผลักดันบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้ทรัพยากรของบริษัทสำหรับการจัดการวิกฤติ

แนวปฏิบัติที่ 10 ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

แนวปฏิบัติที่ 11 เน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่บริษัทมิอาจเพิกเฉย นอกเหนือจากเรื่องโควิด-19 ทั้งประเด็นความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

แนวปฏิบัติที่ 12 ให้การสนับสนุนบริษัทและลูกหนี้ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้

แนวปฏิบัติที่ 13 เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อช่วยสอดประสานให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว

แนวปฏิบัติที่ 14 ปรับมุมมองระยะยาว ในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

แนวปฏิบัติที่ 15 ทบทวนสถานะและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว

ผู้ลงทุนสถาบันและหน่วยงานที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดแนวทางรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Investor Response Guidance on COVID-19 เพิ่มเติมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทาง www.thaipat.org