‘ข้าวแลกปลา’ จากชาวนาถึงชาวเล I Green Pulse

‘ข้าวแลกปลา’ จากชาวนาถึงชาวเล I Green Pulse

จากความพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าการขาดแคลนอาหารและข้าวของชาวเลชุมชนราไวย์ในจังหวัดภูเก็ตอันเนื่องมาจากการปิดเมืองของจังหวัด ที่ทำให้ชุมชนไม่สามารถนำปลาและสัตว์ทะเลต่างๆ ที่หาได้มาวางขายหารายได้ในตลาดในที่ต้องปิดตัวลง

ความพยายามดังกล่าวกำลังได้รับการต่อยอดในประเด็นการพึ่งพาตัวเองด้วยการสร้างเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่อาจเป็นอีกหนึ่งทางรอดท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

ในช่วงวันที่ 11 เมษายน นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ได้บอกกับสำนักข่าวชายขอบว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์หลังจากเริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และธุรกิจต่างๆ เริ่มปิดตัวลง ชาวเลในชุมชนราไวย์เริ่มได้รับผลกระทบเนื่องจากนักท่องเที่ยวที่หายไป ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถขายปลาได้ แม้ว่ายังหาปลาได้สม่ำเสมอ

และเมื่อมาตรการต่างๆ ของทางจังหวัดเข้มข้นขึ้น ปลาที่จับมาได้ก็ไม่สามารถเอาไปขายที่อื่นๆ ได้เช่นกัน แม้แต่แพปลาเพราะเป็นข้อห้ามของเทศบาล ทำให้ได้รับความลำบากในการใช้ชีวิตเพราะไม่มีรายได้ซื้อข้าวสาร ส่วนชาวเลที่ทำอาชีพอื่นก็ขาดรายได้เช่นเดียวกัน

คนในชุมชนของสนิทมีถึงกว่า 1,300 คน

“แม้จะมีข้าวสารขายตามร้านของชำ แต่ก็ไม่มีเงินซื้อ มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล พวกเราก็เข้าไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือและกรอกข้อมูลในระบบออนไลน์ไม่เป็น บางคนไม่มีมือถือ ขนาดเปิดบัญชีธนาคารยังไม่มีเงิน และไม่กล้าด้วย” นายสนิทบอกสำนักข่าว

158787602659

ข่าวความเดือดร้อนของชาวเลเป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้นและผ่านเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชาวกะเหรี่ยงที่ร่วมงานกันมาหลายปีในการผลักดันการฟื้นฟูวิถีชีวิตและพื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนชายขอบ เกิดเป็นความพยายามแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่ได้จากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน “ข้าวแลกปลา” ก่อนที่จะกระจายไปยังชุมชนอื่นๆรวมทั้งภาคอีสานอย่างจังหวัดยโสธร

โดยชุดแรกมีการแลกเปลี่ยนข้าวสารจากยโสธรจำนวน 9 ตันที่มามอบให้ชาวเลในชุมชนราไวย์ไปแล้วช่วงต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวเลได้มอบปลาตากแห้งราว 1.5 ตันกลับคืนไป

และในอาทิตย์หน้า ข้าวดอยที่รวบรวมจากชุมชนกะเหรี่ยงในภาคเหนือจะถูกลำเลียงมาส่งให้กับชาวเลอีกครั้ง

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท หนึ่งในองค์กรสนับสนุนแนวคิด “ข้าวแลกปลา” กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนสินค้ากันปกติ แต่มันคือการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน ที่เครือข่ายฯ ต้องการเดินหน้ากันต่อไป

เขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่ชาวเล ชาวกะเหรี่ยง ชาวนาอีสาน และคนอื่นๆ “ลุก รุก ร่วมกัน” จนเกิดเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างทางรอดใหม่บนฐานวิถีชีวิตวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน

“โครงการ ข้าวแลกปลา อาจมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แทนการร้องขอความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว และเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกันและกันและแบ่งปันกันในยามทุกข์ยากโดยเอาเงินออกจากระบบ เอาวิถีชีวิตวัฒนธรรมเข้ามาแลกกัน
“มันยังทำให้เห็นถึงข้อจำกัดของการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการทำมาหากินของชุมชนชาวเลในอันดามัน และให้โอกาสนโยบายได้ปรับวิธีคิด ส่งเสริมชุมชน ให้อยู่ร่วมกับทรัพยากรและสังคมได้อย่างยั่งยืน” ไมตรีกล่าว

158787614061

ไมตรีกล่าวว่า ขณะนี้องค์กรภาคีกำลังช่วยกันคิดออกแบบแนวคิดต่อ เช่น ทำข้อมูลผลิตภัณท์ชุมชน จับคู่และประสานให้เกิดการแลกกันให้ได้แบบปรกติ ซึ่งสามารถต่อยอดได้หากมีการปรับแก้ระบบการขนส่ง และการทำโซเชียลเอนเตอร์ไพร์ ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมชุมชนเพื่อความอยู่รอด คือชุมชนจับคู่แลกเปลี่ยนผลผลิตกันโดยตรง โดยมีทีมประสานงานอำนวยความสะดวกให้, การแลกเปลี่ยนกับเอกชน เพื่อความอยู่ได้ระยะยาว เช่น ผลิตภัณท์ชุมชนแลกกับ สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำปลา น้ำมัน อื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน, และการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตกับวัฒนธรรมชุนชนเพื่อสร้างสังคมเดียวกัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“การได้มาด้วยการแลก ยังรับรู้ถึงความเอื้ออาทรที่จะส่งมอบต่อได้ เช่น ชาวเลราไวย์แลกข้าวมาส่งต่อให้ชาวเลพีพี หรือชาวเลพังงาแลกข้าวมาส่งมอบต่อให้เพื่อนชาวเลเกาะสุรินทร์ เป็นต้น” ไมตรีกล่าว

ภาพ/ มูลนิธิชุมขนไท/ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ