ส่งขยะจากบ้าน “กลับบ้าน” I Green Pulse

ส่งขยะจากบ้าน “กลับบ้าน” I Green Pulse

ขยะจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นหน้ากากติดเชื้อ บรรจุภัณฑ์อาหารเดลิเวอรี่และอาหารเหลือทิ้ง กลายมาเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายเริ่มตระหนักและเตรียมรับมือ

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะทำให้ธรรมชาติหลายๆ แห่งรวมทั้งชั้นบรรยากาศของโลกได้หยุดพักฟื้นฟูจากการรบกวนโดยกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ แต่ในอีกด้าน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด ได้ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตเปลี่ยนไป รวมถึงการกักตัวทำงานอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีการพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปและเดลิเวอรี่มากขึ้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์อาหารเหล่านี้และอาหารเหลือทิ้ง กลายมาเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายเริ่มตระหนักและเตรียมรับมือ

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า สถานการณ์วิกฤตการระบาดของโควิด กำลังทำให้ปริมาณขยะโดยเฉพาะในเขตเมืองเพิ่มขึ้นกว่าปกติ โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า ขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 15% จากปริมาณปกติ 5,500 ตันต่อวัน จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านและการหยุดโรงเรียน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร ยังระบุถึงขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัมต่อวัน

“ปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤติซ้อนวิกฤติและต้องมีการเร่งรับมือ โดยการดำเนินการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจาก ภาคประชาชน ภาครัฐ และ ภาคเอกชน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.กล่าว

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของคณะวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวตกรรม, ดร. ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program และคณะ ซึ่งพบว่า รูปแบบของการเกิดขยะเปลี่ยนไปจากภาวะปกติโดยมีความซับซ้อนขึ้น ซึ่งทำให้การจัดการขยะรูปแบบใหม่จำเป็นที่จะต้องมีความเท่าทันสถานการณ์

โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า เพียงช่วงเริ่มต้นของมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ที่ส่งผลให้เกิดการจำกัดช่วงเวลาและสถานที่นอกบ้าน และการกักตัวอยู่กับบ้านของประชาชน ยอดขายสินค้าออนไลน์และบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาปกติถึงกว่าร้อยละ 30 ซึ่งผลที่ตามมาของการสั่งซื้อสินค้าและอาหารในลักษณะนี้คือ ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก

158787567058

เมื่อพิจารณารูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ทางคณะ สามารถจัดแบ่งกลุ่มขยะที่กำลังเกิดขึ้นได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆคือ

•บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร เช่น กล่องอาหาร ช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง แก้วน้ำ หลอดพลาสติก
•บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สัมผัสกับอาหาร เช่น ถึงพลาสติกหูหิ้ว กล่องไปรษณีย์ พลาสติกกันกระแทก
•ขยะอาหาร ทั้งที่มาจากการสั่งอาหารหรือการประกอบอาหารเอง
•หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง
•ขยะอื่นๆ ในกิจวัตรประจำวัน เช่นกระดาษชำระ กระดาษเอกสาร

“จากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบขยะที่เกิดขึ้น การจัดการขยะที่เกิดขึ้นในครัวเรือนในช่วงเวลาที่บ้านกลายเป็นแหล่งกำเนิดหลักของขยะ จึงเป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่ทุกคนควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อมีส่วนสำคัญในการจัดการขยะที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ” ทางคณะวิจัยระบุ

แนวทางจัดการขยะที่กำลังขึ้น ทางคณะได้เสนอแนวทางการจัดการขยะตามลำดับชั้นการจัดการขยะ หรือ Waste management hierarchy ซึ่งคล้ายกับการจัดการขยะในสถานการณ์ปกติ บวกกับการคัดแยกขยะเพื่อการจัดการเฉพาะ โดยเฉพาะขยะที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด

กล่าวคือ มีการแบ่งจัดการขยะออกเป็น 6 ลำดับขั้น โดยขั้นที่ 1-3 เป็นการจัดการวัสดุที่ยังไม่กลายเป็นขยะ ได้แก่ การ Reject หรือ การไม่รับหรือเลี่ยงการใช้วัสดุใช้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง, การ Reduce หรือการลดการเกิดขยะโดยใช้ให้น้อยลงหรือใช้สิ่งอื่นทดแทน, และการ Reuse หรือการนำมาใช้ซ้ำ

หากเมื่อกลายเป็นขยะแล้ว การจัดการจะลงไปสู่ขั้นตอน Recycle หรือการนำขยะไปแปรสภาพ, Recovery หรือการนำขยะแปลงเป็นทรัพยากรอื่น อาทิ เชื้อเพลิง และ Disposal หรือการกำจัดขยะ

ทางคณะวิจัยกล่าวว่า ในมุมของผู้บริโภค ประชาชนทั่วไปจะสามารถช่วยได้อย่างมากใน 3 ขั้นตอนแรก ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดขยะ แต่เมื่อเป็นขยะแล้ว พวกเขาก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยทำการคัดแยกขยะเพื่อไปสู่ช่องทางที่เหมาะสมในการจัดการ และให้เหลือเป็นขยะเพื่อนำไปกำจัดให้น้อยที่สุด

ทางด้านนายวราวุธกล่าวว่า ตนอยากขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเท่าที่จำเป็น ลดขยะพลาสติก และแยกขยะเพื่อนำกลับมารีไซเคิล

ส่วนขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว อยากขอความร่วมมือให้แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับพนักงานเก็บขยะ และลดภาระบ่อฝังกลบ

ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเข้าสู่สภาวะปกติ ทส. อยากขอความร่วมมือประชาชนลด ละ เลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกครั้ง หลังจากที่ได้เริ่มรณรงค์กันมาตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม

“การทำเช่นนี้ จะสามารถช่วยลดการก่อให้เกิดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อยากให้พวกเราทุกคนร่วมมือกันคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะกลับมารีไซเคิล เพื่อสร้างประโยชน์ใหม่อย่างมีคุณค่าต่อไป” นายวราวุธกล่าว

158787490697

ภาคเอกชน

หลังจากรับทราบสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดที่เร่ิมส่งผลต่อขยะพลาสติกในประเทศ ภาคเอกชนต่างก็ตื่นตัวและกระตือรือล้นที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจัดการขยะที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ โดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย(TRBN) รวมทั้ง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน),เทสโก้ โลตัส, บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป และสมาชิกอื่นๆ ได้ริเร่ิมโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งเกิดจากแนวคิดว่า ทุกครัวเรือนคือต้นทางที่สามารถมีส่วนรวมในการลด และจัดการกับปัญหาปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ง่ายๆ และทำได้ทันที, ผู้อำนวยการ TRBN นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยากล่าว

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับขยะพลาสติกของบริษัทที่ดำเนินมาระยะหนึ่งผ่านแนวคิดหลัก GC Circular Living Platform for Every One 4 ด้านหลักๆ คือ การรีไซเคิลและการอัพไซคลิ่ง แปรขยะไปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือรองเท้าแฟชั่นต่างๆ, การผลิตไบโอพลาสติกซึ่งมีโรงงานในสหรัฐฯที่ติดอันดับของโลกและที่จังหวัดระยอง, การสร้างระบบจัดการขยะครบวงจรผ่านต้นแบบต่างๆโดยความร่วมมือกับพันธมิตร และการช่วยเหลือสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีพลาสติกที่ยั่งยืนขึ้นให้กับผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งโครงการ”ส่งพลาสติกกลับบ้าน” นับเป็นงานในส่วนที่ 3 ที่ทางบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดร.คงกระพันกล่าว

“ในวิกฤต COVID-19 นอกจาก GC ได้ช่วยเหลือทีมแพทย์และประชาชน ผ่านการใช้ประโยชน์จากพลาสติกและเคมีภัณฑ์ต่างๆ (เช่น เสื้อกาวน์พลาสติก Disposable Gown) เรายัง “คิดต่อ” ถึงการจัดการพลาสติกที่ถูกนำไปใช้มากเป็นพิเศษในช่วงนี้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เดลิเวอรี่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเครือข่ายฯ ในการให้องค์ความรู้การจัดการพลาสติกหลังการใช้ตามแนวคิด GC Circular Living Platform for Every One
“ในอนาคต GC จะมีโรงงาน Recycle ที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564 ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งโครงการนี้และโครงการอื่นๆ ได้มากขึ้นด้วย” ดร.คงกระพันระบุ

ภายใต้โครงการฯ ระยะแรกจะเป็นการรณรงค์ให้ครัวเรือนร่วมกันแยกขยะติดเชื้อและรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป ขณะที่การดำเนินงานในระยะต่อไป ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โครงการจะดำเนินการโมเดลนำร่องระบบ “การเรียกคืนขยะพลาสติก”บนถนนสุขุมวิท เพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยจะใช้พื้นที่ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต เช่น เทสโก้ โลตัส สาขาอ่อนนุช และกูร์เมต์ มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ฯลฯ เป็นจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้งจากผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งไปยัง “Waste hub” และเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล (recycle)ไปจนถึงอัพไซเคิล (upcycle)

โครงการหลังว่าจะสามารถขยายผลโมเดล “การเรียกคืนขยะพลาสติก”ไปสู่ถนนอื่นๆ รวมถึงการมีพันธมิตรมากขึ้นในการดำเนินการในอนาคต ทส.ระบุ

158787586027