โควิดฉุด 'ตลาดรถ' ร่วงแรง ไตรมาสแรกติดลบ 24%

โควิดฉุด 'ตลาดรถ' ร่วงแรง ไตรมาสแรกติดลบ 24%

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ยอดขาย "ตลาดรถยนต์" ปีนี้ติดลบมากขึ้น ซ้ำเติมอุตสาหกรรมนี้จากปัจจัยลบเดิมในปี 2562 ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน และสงครามการค้า ซึ่งล่าสุดเดือน มี.ค. พบว่ายอดขายหดตัวกว่า 41.7%

"ตลาดรถยนต์" มีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา จากการได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ส่งผลให้ยอดขายลดลง 7% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.006 ล้านคัน

ขึ้นปี 2563 คนในวงการประเมินอย่างยอมรับว่าตลาดจะยังคงมีทิศทางที่ถดถอยต่อเนื่อง โดยคาดกันว่ายอดขายรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9.4 แสนคัน หรือติดลบประมาณ 5%

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามอย่างรุนแรงไปทั่วโลกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เป็นตัวเร่งให้ยอดขายปีนี้ติดลบมากขึ้น โดยล่าสุดเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าหดตัว 41.7% จากการรายงานของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า เปิดเผยว่า ยอดขายเดือน มี.ค. มีทั้งสิ้น 6.01 หมื่นคัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ความสนใจในการซื้อรถใหม่ชะลอตัว

ขณะที่ยอดขายสะสม 3 เดือน ซึ่งลดลง 24.1% ก็เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ที่มีผลต่อเนื่องไปยังด้านอื่นๆ เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตามค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังคงพยายามหามาตรการเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์และกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในเดือน เม.ย. ยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับยอดขายในเดือน มี.ค. 3 อันดับแรกในตลาดรวมประกอบด้วย โตโยต้า 1.73 หมื่นคัน ลดลง 48.9% ส่วนแบ่งตลาด 28.8% อีซูซุ 1.36 หมื่นคัน ลดลง 21.8% ส่วนแบ่งตลาด 22.7% ฮอนด้า 7,506 คัน ลดลง 31.9% ส่วนแบ่งตลาด 12.5%

ตลาดรถยนต์นั่ง อันดับที่ 1 ฮอนด้า 6,070 คัน ลดลง 25.5% ส่วนแบ่งตลาด 29.3% ตามมาด้วยโตโยต้า 5,406 คัน ลดลง 55.6% ส่วนแบ่งตลาด 26.1% อันดับที่ 3 มาสด้า 2,161 คัน ลดลง 56.5% ส่วนแบ่งตลาด

รถปิกอัพ อันดับที่ 1 อีซูซุ 1.19 หมื่นคัน ลดลง 19.7% ส่วนแบ่งตลาด 44.1% อันดับที่ 2 โตโยต้า 9,387 คัน ลดลง 41.6% ส่วนแบ่งตลาด 34.5% อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 2,157 คัน ลดลง 46.8% ส่วนแบ่งตลาด 7.9%

รถพีพีวี โตโยต้า มียอดขาย 962 คัน มิตซูบิชิ 773 คัน อีซูซุ 640 คัน ฟอร์ด 419 คัน เชฟโรเลต 228 คัน และนิสสัน 59 คัน

ส่วนยอดสะสมไตรมาสแรก ตลาดรวม อันดับที่ 1 โตโยต้า 5.61 หมื่นคัน ลดลง 34.9% ส่วนแบ่งตลาด 28.1% ตามาด้วย อีซูซุ 4.23 หมื่นคัน ลดลง 5.6% ส่วนแบ่งตลาด 21.2% และฮอนด้า 2.86 หมื่นคัน ลดลง 4.4% ส่วนแบ่งตลาด 14.3%

ตลาดรถยนต์นั่ง ฮอนด้ายังมีตัวเลขเป็นบวก ด้วยยอด 2.39 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 6.4% ส่วนแบ่งตลาด 30.6% อันดับที่ 2 โตโยต้า 1.86 หมื่นคัน ลดลง 39.6% ส่วนแบ่งตลาด 23.8% นิสสัน 8,691 คัน ลดลง 20.5% ส่วนแบ่งตลาด 11.1%

รถปิกอัพ อันดับที่ 1 อีซูซุ 3.78 หมื่นคัน ลดลง 2.5% ส่วนแบ่งตลาด 43.5% โตโยต้า 2.94 หมื่นคัน ลดลง 29.4 ส่วนแบ่งตลาด 33.8% มิตซูบิชิ 7,209 คัน ลดลง 29.1% ส่วนแบ่งตลาด 8.3%

ส่วนรถพีพีวี โตโยต้ามียอดขาย 3,320 คัน มิตซูบิชิ 2,626 คัน อีซูซุ 1,763 คัน ฟอร์ด 1,298 คัน เชฟโรเลต 544 คัน และนิสสัน 289 คัน

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดนี้ ช่วงนี้จะเห็นได้ว่าบริษัทรถยนต์ต่างออกมากระตุ้นตลาดผ่านแคมเปญ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเงื่อนไขทางการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ 0% ผ่อนนาน ดาวน์น้อย หรือฟรีดาวน์ รวมถึงการแจกแถมอื่นๆ เช่น ประกันภัย หรือแพ็คเกจการบริการหลังการขายเป็นต้น

แต่ก็เริ่มมีแคมเปญที่ต้องการให้ผู้บริโภคตัดสินใจเร็วขึ้นในช่วงที่ยังลังเลกับการใช้จ่าย ด้วยการลดภาระในช่วงต้นของการซื้อรถออกไป ด้วยการยืดการผ่อนชำระงวดแรกออกไป เริ่มจาก เอ็มจี แซดเอส ที่ยืดไป 3 เดือน และหลังจากนั้นทั้งบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย หรือว่า มิลเลนเนียม ออโต้ ตัวแทนจำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยู และมินิ ก็ออกแคมเปญ ยืดผ่อนงวดแรกออกไปเป็นปี 2564 ในรถยนต์หลายรุ่น เช่น เอ็กซ์ 1 เอ็กซ์ 2 หรือว่า 6จีที รวมถึง มินิ แฮทช์ คูเปอร์ ดี เป็นต้น และล่าสุด ซูบารุ ก็ออกแคมเปญขับวันนี้ ผ่อนปีหน้าออกมาอีกราย สำหรับ เอ็กซ์วี และ ฟอเรสเตอร์

ผลการตอบรับจะเป็นอย่างไร จะรับมือกับโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามดูกันต่อไป