นัยยะไทยประกาศ 5 ประเทศเขตติดโรคโควิด-19ล่าสุด

นัยยะไทยประกาศ 5 ประเทศเขตติดโรคโควิด-19ล่าสุด

แปลกใจอยู่ไม่น้อยเมื่อประเทศไทยประกาศเพิ่มอีก 5 ประเทศเป็นเขตโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ไม่ได้มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากแบบที่เรียกว่า "เอาไม่อยู่"ดังเช่นประเทศแถบอเมริกาและยุโรปเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่ก็พอจะเข้าใจความจำเป็น

ก่อนหน้านี้ในระยะต้นของสถานการณ์โรคโควิด-19แพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศไทยเคยอาศัยอำนาจตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในการประกาศให้ 4 ประเทศเป็นเขตโรคติดต่ออันตรายนี้ คือ จีน(รวมฮ่องกง มาเก๊า) เกาหลีใตั อิหร่านและอิตาลี แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นแทบทุกประเทศทั่วโลก กลไกมาตรการนี้ก็เงียบหายไป ไม่มีประเทศไหนถูกประกาศให้เป็นเขตติดโรคฯเพิ่มเติม ซึ่งทีมทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เคยให้เหตุผลว่า "ปัจจุบันแทบทุกประเทศทั่วโลกมีการระบาด จึงไม่ได้แยกว่าประเทศใดระบาดน้อยหรือมากอีก เพราะมาตรการต่างๆที่ไทยจะใช้ดำเนินการกับประเทศต่างๆก็เหมือนกัน"


กระทั่ง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 มีการประกาศประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตรายเพิ่มเติมอีก 5 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งหากเทียบตัวเลขผู้ป่วยในประเทศเหล่านี้กับประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปแล้วถือว่ายังเจอผู้ป่วยจำนวนไม่มาก โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 เมียนมามีผู้ป่วย 138 ราย ลาว 19 ราย กัมพูชา 122 ราย มาเลเซีย 5,691ราย และอินโดนีเซีย 8,211 ราย


ดังนั้นแล้วเหตุของการประกาศ 5 ประเทศนี้จึงไม่น่าจะอยู่ที่การพิจารณาจากรายงานจำนวนผู้ป่วยในประเทศเป็นหลัก แต่ประเทศเหล่านี้ 4 ใน 5 เป็นเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย ผู้คนระหว่าง 2 ประเทศจึงมีการเดินทางไปมาข้ามแดนอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้ง มีแรงงานจากประเทศเหล่านี้เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย และในช่วงที่มีการปิดสถานที่ สถานบริการหลายส่วนและหลายจังหวัด แรงงานเหล่านี้จำนวนมากก็ได้เดินทางกลับประเทศ เหมือนกับคนไทยกลับจังหวัดบ้านเกิด


นัยยะของการประกาศประเทศเขตติดโรคโควิด-19เพิ่ม 5 ประเทศนี้ จึงอยู่ที่การมุ่งเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาในประเทศไทยเป็นสำคัญ

ข้อมูลระบุว่าแรงงานต่างด้าว มากกว่า 2.7 ล้านคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่มาจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน กัมพูชามากกว่า 6.5 แสนคน และ สสป.ลาว มากกว่า 2.8 แสนคน กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประกาศ 5 ประเทศดังกล่าวเป็นเรื่องของความมั่นคง เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายความมั่นคงในการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจริงๆ วันนี้มีการระบาดไปทั่วโลกอยู่แล้ว แต่หลายๆ ประเทศไม่ได้มีความจำเป็น หรือมีการติดต่อโดยตรงกับประเทศไทย ในขณะที่ 5 ประเทศนี้ ยังมีการติดต่อกับไทยอยู่ จึงต้องมีการประกาศเพื่อให้เราสามารถใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าไปดูแลได้ เช่น การห้ามรถขนประชากรจากประเทศเหล่านี้เข้ามายังประเทศไทย ถ้าเข้ามาต้องนำกลับ ถ้าเราไม่ประกาศจะทำไม่ได้

ส่วนเป็นการประกาศรองรับการคลายล็อคบางพื้นที่ของไทยที่อาจจะทำให้มีการกลับเข้ามาของแรงงานต่างด้าวหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า เป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งตอนนี้มีคนที่เกี่ยวข้องกับเราเป็นล้านคน ดังนั้นเราต้องทำระบบให้ดี มีแรงงานในระบบเกือบ 2 ล้าน ซื้อประกันสุขภาพก็ล้านกว่าคน และยังมีใต้ดินอีก เราต้องการดูแลอย่างเข้มข้น วันนี้จะใช้การตรวจสแกนทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อเพราะเรามีบทเรียนจากหลายประเทศ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เรามองดูว่าถ้าแรงงานแออัด ต้องไปดูสถานที่ และตรวจทุกคน อะไรที่ทำได้ ในรายละเอียดต้องมาว่ากันอีกที เราเอาบทเรียนของประเทศอื่น มาแก้ปัญหาของเรา .
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มคุมการระบาดได้ดี กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากพบการระบาดของโรคสนพื้นที่ที่พักของแรงงานต่างชาติ


นี่จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่เห็นบทเรียนจากสิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยต้องนำกลไกของการประกาศประเทศเขตติดโรคฯมาใช้ดำเนินการกับกลุ่ม 5 ประเทศนี้


สอดรับกับการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 53 ราย แยกเป็นคนไทย 11 ราย และอีก 42 ราย เป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและเข้ารับการรอผลักดันกลับประเทศอยู่ที่ศูนย์กักขัง ตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นคนสัญชาติ เมียนมา 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 รายและอินเดีย 1 ราย


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า ศบค.มีการหารือถึงตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการตรวจพบในแรงงานต่างด้าวที่ศูนย์กักขังฯมีสิ่งที่ควรต้องเรียนรู้ อาทิ จากนโยบายของผอ.ศบค.ที่เห็นข่าวของประเทศสิงคโปร์พบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก จึงให้นโยบายเชิงรุกการติดตามกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นการเฉพาะ และประเทศไทยมีการประกาศเขตโรคติดต่ออันตรายเพิ่มขึ้น 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศชายแดนติดต่อกับประเทศไทย เป็นการคุมเข้มขึ้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามา ทำให้เกิดการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีการนำวิธีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19ด้วยการให้ขากเสลดที่แต่ละคนทำได้เองมาใช้เสริมการเก็บจากหลังโพรงจมูกที่ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์มาใช้ ในกรณีที่ต้องตรวจคนเป็นกลุ่มก้อนพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้สามารถตรวจได้ครั้งละจำนวนมาก การรายงานผลจึงมีมากขึ้น รวมถึง การใช้ในกรณีแรงงานต่างด้าวด้วย


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การตรวจแล็บด้วยการเก็บตัวอย่างจากการขากเสลดนั้นจะนำมาใช้ในกรณีการเก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มที่ 2-4 อาทิ กลุ่มคนในชุมชนที่อาจจะเจอคนที่มีความยุ่งยากในการเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูก กลุ่มคนที่เดินทางเข้าประเทศพร้อมกันจำนวนมากบริเวณสนามบินหรือด่านพรมแดนต่างๆ กลุ่มผู้ไม่มีอาการในชุมชน บางกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าวที่อยู่กันอย่างแออัดในจ.สมุทรสาคร ภาคใต้ตอนบน และกรุงเทพฯ และคนที่มีความเสี่ยงแต่ไม่สะดวกเก็บตัวอย่างด้วยการสวอป เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และสื่อมวลชนภาคสนาม เป็นต้น


“ข้อดีของการเก็บตัวอย่างด้วยวิธีนี้ คือ 1.เก็บตัวอย่างง่ายกว่า เพราะวิธีนี้ผู้ตรวจเก็บเองแต่การสวอปต้องให้คนอื่นเก็บ 2.ลดการใช้ชุดป้องกัน(PPE) เพราะการสวอกเชื้อต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ใส่ชุดป้องกันเต็มที่ ขณะที่ประเทศไทยยังมีชุดนี้จำกัดแต่เพียงพอใช้ในประเทศ 3.ราคาลดลง และ4.รวดเร็ว จะทำให้สะวดกมากขึ้นในการใช้เก็บตัวอย่างในบางกลุ่มที่ไม่สะดวกในการเก็บด้วยวิธีปกติแบบเดิม วิธีขากเสลดก็จะใช้เป็นการเสริม แต่ไม่ได้นำมาใช้ทดแทนแบบเดิมแต่อย่างใด จะพิจารณาใช้ตามความเหมาะสมและจำเป็นในกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย”นพ.สุวรรณชัยกล่าว