ผบ.ตร.ย้ำทุกโรงพักหมั่นดูแลทุกข์สุข ป้องลูกน้องฆ่าตัวตาย

ผบ.ตร.ย้ำทุกโรงพักหมั่นดูแลทุกข์สุข ป้องลูกน้องฆ่าตัวตาย

“กฤษณะ” รองโฆษกตร.ระบุ ผบ.ตร.เสียใจต่อเหตุ ผู้บังคับหมู่ สภ.ธารโต ฆ่าตัวตายจากความเครียด ย้ำผู้บังคับบัญชาดูแลสิทธิ สวัสดิการ ย้ำ หัวหน้าหน่วยทุกโรงพัก หมั่นดูแล เฝ้าสังเกตสัญญาณเตือนภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย

กรณี จ.สต.วีระยุทธ บัวอิ่น อายุ 38 ปี สังกัด สภ.ธารโต ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ สภ.ธารโต วัย 38 ปี ใช้อาวุธปืนพก ยี่ห้อกล็อค 26 ขนาด 9 มม.ยิงตัวเองชีวิต ภายบ้านพัก ในเขตตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา

วันนี้(25 เมษายน 2563) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พันตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทาง สภ.เมืองยะลา รายงานว่า หลังพนักงานสอบสวนของโรงพักในพื้นที่ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน10 ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตรวจเขม่าดินปืน เก็บรวบรวมพยาน หลักฐานในที่เกิดเหตุ พร้อมมีการเคลื่อนศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาแล้ว

เบื้องต้นทราบว่า ผู้ตายมีความเครียดและมีอาการซึมเศร้า ซึ่งทางพนักงานสอบสวนจะดำเนินการคดีชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตายตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้งไป

รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นได้รายงานให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับทราบแล้ว โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ฝากแสดงความเสียใจไปยังญาติของผู้เสียชีวิต และได้กำชับให้ผู้บังคับบัญชา ตรวจสอบถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่ผู้เสียชีวิตจะได้รับ อย่าให้ขาดตกบกพร่องเด็ดขาด

ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีความเป็นห่วงเป็นใยถึงข้าราชการตำรวจทุกนาย และมีการกำชับไปยังผู้บังคับชาทุกหน่วย ให้คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใต้บังคับบัญชา หมั่นให้ความใส่ใจ ซักถาม ทำความเข้าใจ และดูแลช่วยเหลือกับปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม

พร้อมกันนี้ ขอประชาสัมพันธ์ ข้าราชตำรวจ หรือญาติ ที่พบว่าเพื่อนข้าราชการตำรวจ ที่มีความเสี่ยงต่อการก่อเหตุฆ่าตัวตาย ด้วยการสังเกตุสัญญาณเตือน เช่น พูดถึงความตาย หรือการฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย , พูดหรือเขียนสั่งเสีย , เคยพยายามฆ่าตัวตาย , เศร้าซึม แยกตัวเอง , ป่วยเป็นโรคจิต , ติดสุราหรือยาเสพติด จนเลิกไม่ได้ , เกิดการโต้เถียง ทะเลาะวิวาทรุนแรงบ่อยๆ เป็นต้น

หากพบสัญญาณเหล่านี้ ขอให้หันหน้าปรึกษาญาติหรือผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานก่อน และสามารถขอรับการรับคำปรึกษาหรือการรักษาได้ที่ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ โทร.0-2207-6144 หรือ 0-2207-6000 ต่อ 6144