กรมชลฯ เร่งจ้างแรงงานเกษตร หวังบรรเทา 'ภัยแล้ง' และโควิด–19

กรมชลฯ เร่งจ้างแรงงานเกษตร หวังบรรเทา 'ภัยแล้ง' และโควิด–19

สำนักงานชลประทานที่ 6 เร่งจ้างแรงงานเกษตรกร หวังช่วยบรรเทาผลกระทบ "ภัยแล้ง" และโควิด 19 ขณะที่ 5 จังหวัดอีสานกลางมีผู้สมัครเข้าทำงานแล้วกว่า 4,300 ราย

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63  นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า กรมชลประทาน มีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ "ภัยแล้ง" และการระบาดของโรค "โควิด-19" จึงมีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนรายได้ของพี่น้องเกษตรกร ด้วยโครงการจ้างแรงงานเกษตรกรในปีงบประมาณ 2563

สำหรับปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด (ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด) ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับจ้างแรงงานเกษตรกรประมาณ 280 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 7,000 ราย ปัจจุบันทั้ง 5 จังหวัดได้จ้างแรงงานไปแล้วกว่า 4,300 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 ของจำนวนแรงงานเกษตรกรที่จ้าง

จังหวัดที่มีการ "จ้างแรงงานเกษตรกร" มากที่สุดในขณะนี้คือจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจ้างแรงงานเกษตรกรไปแล้วมากกว่าร้อยละ 95 ส่วนจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ เริ่มทยอยจ้างไปแล้วกว่าร้อยละ 50

158773035125

ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวต่ออีกว่า เกษตรกรที่สมัครเข้าทำงานจะได้รับค่าจ้างวันละ 377.85 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท ระยะเวลาการจ้างงาน 3-7 เดือน รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-56,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและระยะเวลาที่ทำ โดยได้เริ่มดำเนินการจ้างแรงงานเกษตรกรมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจ้างแรงงานคือต้องเป็นเกษตรกรในพื้นที่ เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้ใช้แรงงานทั่วไป และหากแรงงานในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอ ให้พิจารณาจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส COVIC-19 ในระหว่างการทำงาน จึงได้กำชับให้ทุกโครงการปฏิบัติตามมาตรการ SOBOP ของกรมชลประทาน โดยการตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายก่อนทำงาน สวมหน้ากากอนามัย พร้อมจัด เจลล้างมือไว้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงควบคุมให้เว้นระยะห่างในระหว่างปฏิบัติงานตามความเหมาะสมของลักษณะงานแบบ Social Distancing อีกด้วย

158773037449

ด้านนายจิรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับงบประมาณในการจ้างแรงงานเกษตรกรประมาณ 50 ล้านบาทเศษ สามารถจ้างแรงงานได้ประมาณ 1,180 คน ปัจจุบันนี้ได้จ้างแรงงานไปแล้วประมาณ 1,160 คน ซึ่งได้เริ่มทำงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 โดยลักษณะงานที่ทำเป็นการใช้แรงงาน เช่นงานก่อสร้างเสริมความมั่นคงแข็งแรงพนังกั้นลำน้ำยัง งานปรับปรุงประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยในลำน้ำชี และงานขุดลอก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถาการณ์น้ำหลาก และช่วยบรรเทาอุทกภัยในจังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้

นายนิรันดร์ ครูมนตรี และนายวัฒนา ปิตฝ่าย ประชาชนอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบของโรคไวรัส COVID-19 เนื่องจากโรงงานที่ตนทำงานอยู่กรุงเทพเลิกจ้างพนักงาน จึงกลับมาทำการเกษตรอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดบ้านเกิด ตนรู้สึกดีใจและโชคดีมากที่ได้ทราบข่าวการจ้างแรงงานของกรมชลประทาน หลังจากที่ผ่านการกักตัวครบ 14 วันแล้ว จึงมาสมัครทำงานกับโครงการชลประทานร้อยเอ็ด ทำให้มีรายได้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายจุนเจือครอบครัวในช่วงที่ตกงาน จึงขอขอบคุณกรมชลประทานสำหรับโครงการนี้ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้ครอบครัวแล้ว ยังได้งานที่เป็นประโยชน์ ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวอีกด้วย