ชง คนร. 2 ทางเลือกอุ้มการบินไทย “คลัง”ค้ำเงินกู้เสริมสภาพคล่อง

ชง คนร. 2 ทางเลือกอุ้มการบินไทย  “คลัง”ค้ำเงินกู้เสริมสภาพคล่อง

“คลัง-คมนาคม” ชง คนร.เคาะแผนฟื้นฟูการบินไทย 29 เม.ย.นี้ ขออนุมัติเงินกู้สูงกว่า 7 หมื่นล้าน ชูข้อเสนอ 2 ทางเลือก กู้เงิน–ออกตราสารหนี้ เสริมสภาพคล่องธุรกิจถึง ธ.ค.นี้ พร้อมพิจารณาสถานะรัฐวิสาหกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามแผนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วานนี้ (24 เม.ย.) ที่กำลังมีปัญหาสภาพคล่อง และสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังเพื่อสรุปแผนการฟื้นฟู

การประชุมครั้งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมครบทั้งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย

นายศักดิ์สยาม กล่าวภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้รายละเอียดในแผนฟื้นฟูยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยเชื่อว่าจะแล้วเสร็จทันต่อการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ซึ่งเชื่อว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยกลับมาเข้มแข็งได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะไปสรุปแผนขั้นสุดท้ายก่อนเสนอ คนร.สัปดาห์หน้า โดยแผนฟื้นฟูที่จะเสนอ จะครอบคลุม 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.การแก้ปัญหาสภาพคล่องของการบินไทยที่เป็นปัญหาเร่งด่วน 2.การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดรับกับการแข่งขันในอนาคต

สำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องของการบินไทยที่ผ่านมามีการหารือในหลายรูปแบบ เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะดำเนินการต่อภายหลังจากการหยุดทำการบินตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ กรอบวงเงินที่เสนอให้มีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องมีวงเงินสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยถึงเดือน ธ.ค.2563 โดยรูปแบบของการเสริมสภาพคล่องที่จะเสนอให้ คนร.พิจารณามี 2 แนวทาง คือ 1.การกู้เงิน โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะค้ำประกันให้ในวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท

2.การออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกัน แต่เบื้องต้นที่ปรึกษาประเมินว่า แนวทางของการออกตราสารหนี้ อาจไม่ได้ถูกรับเลือกจาก คนร.เนื่องจากเป็นแนวทางเลือกที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ อีกทั้งการออกตราสารหนี้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ตลาดทุนไม่เอื้อต่อการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้

“ขณะนี้แนวทางที่คิดว่า คนร.จะพิจารณา คือ รูปแบบของเงินกู้เพราะใช้เวลาน้อยที่สุด อีกทั้งก็จะสอดคล้องกับวิกฤติทางการเงินของการบินไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีสภาพคล่องเหลืออยู่ไม่มาก แต่วันที่ 29 เม.ย.นี้ ก็จะมีการเสนอทั้ง 2 ทางเลือกให้ คนร.เป็นผู้พิจารณา” แหล่งข่าว กล่าว

เพิ่มบทบาทไทยสมายล์

สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรตามที่ทีมที่ปรึกษานำมาเสนอวานนี้ (24 เม.ย.) พบว่ามีรายละเอียดส่วนใหญ่ คือ การปรับลดบทบาทของการบินไทยลง โดยการเสนอให้นำบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย มาเพิ่มบทบาททางธุรกรรมการเงินและดำเนินธุรกิจการบินให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเสนอจัดตั้ง 3 บริษัทลูก เพื่อลดบทบาทความรับผิดชอบของการบินไทย และเพิ่มโอกาสทางการลงทุน

“แผนที่นำเสนอมาเป็นโมเดลลดบทบาทการบินไทย และเอาไทยสมายล์มาทำงานแทนให้มากขึ้น อย่างเรื่องการกู้เงิน ก็จะให้ไทยสมายล์เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งในที่ประชุมก็ได้ตั้งคำถามไปหลายเรื่องว่า แผนที่นำเสนอมามานี้ ไม่ได้มองถึงปัญหาขององค์กร และยังไม่มีรายละเอียดของเรื่องแผนฟื้นฟูเลย”แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ จะมีการเสนอ คนร.เพื่อพิจารณาผลการศึกษาแนวทางที่จะแปรสภาพการบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ จะมีผลดีและผลเสียอย่างไร ซึ่งจะมีการเสนอแนวทางเลือกที่เหมาะสมให้กับ คนร.พิจารณาด้วย

กระแสเงินสดติดลบ พ.ค.นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมทางบัญชีของการบินไทย ภายหลังประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวเพราะผลกระทบของโควิด -19 ส่งผลให้ฝ่ายบริหารการบินไทย ประเมินว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2563) บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนราว 18,038 ล้านบาท ขณะที่กระแสเงินสด คาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2563 บริษัทจะมีเงินสดติดลบมากถึง 7,839 ล้านบาท

กระแสเงินสดจะเริ่มติดลบตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ (ไม่นับรวมเครดิตไลน์) และจะติดลบในเดือน มิ.ย.นี้ (นับรวมเครดิตไลน์) ทำให้ส่วนของทุนติดลบในไตรมาส 2 ของปี 2563 เป็นวงเงิน 6,273 ล้านบาท ขณะเดียวกันในรอบ 6 เดือนของปีนี้ บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) 139,745 ล้านบาท และมีส่วนของทุนติดลบ ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยจะติดลบอยู่ที่ 6,273 ล้านบาท

นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของการบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรระยะเร่งด่วน ซึ่งจะนำมาปฏิบัติทันทีในเดือน เม.ย.-พ.ย.2563 โดยวางแผนดำเนินการกู้เงินฉุกเฉินระยะสั้น (Bridging Loan) วงเงิน 58,103 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เพื่อคงสภาพคล่องขั้นต่ำที่ 10,000 ล้าน ขณะที่แผนระยะยาว การบินไทยมีเป้าหมายรอแหล่งเงินถาวรที่ฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างจัดทำแผนขออนุมัติจาก คนร.วงเงิน 77,044 ล้านบาท