ภารกิจปั้น 'กำไร' AEC 'ไต้ จง อี้'

ภารกิจปั้น 'กำไร' AEC 'ไต้ จง อี้'

อายุงาน 'ซีอีโอ' บ้านใหม่แค่ 1 เดือน ! แต่ 'ไต้ จง อี้' มือปืนรับจ้าง บล.เออีซี เปิด 2 งานด่วน ผลักดันพันธกิจพัฒนาบุคลากร และ หารายได้เสริม หวังพลิกฟื้นธุรกิจ 'เทิร์นอะราวด์' พร้อมสู่เป้าหมายยกระดับขึ้นเป็นโบรกเกอร์ขนาดกลาง !

โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างทันที ! ภายหลังตกเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ กรณีเกี่ยวเนื่องกับคดีดังการโอนหุ้นของ 'เสี่ยชูวงศ์ แซ่ตั๊ง' นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่เสียชีวิตกะทันหัน ที่พัวพันกับ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ AEC นานหลายเดือน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมาร์เก็ตติ้งของบริษัทกับเสี่ยคนดังที่เกินกว่าลูกค้าและพนักงานมาร์เก็ตติ้ง...   

ท้ายสุด บล.เออีซี ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งข้อหา และลงโทษใน 'กรณีการโอนหุ้นอย่างไม่โปร่งใส' เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรา 113 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 ถูกปรับเป็นเงินจำนวน 1,101,000 บาท พร้อมกับคำสั่งลงโทษผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องหลายคน ตามฐานานุโทษ

'บล.เออีซี' มีผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคือ 'ประพล มิลินทจินดา' เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 23.56% หลังทุ่มเงินลงขันเข้า 'ซื้อกิจการ' (เทคโอเวอร์) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูไนเต็ด หรือ US แล้วแต่งตัวใหม่ ! ซึ่งที่ผ่านมาเก้าอี้ 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' (CEO) ของบล.เออีซี มีการสลับปรับเปลี่ยนมาหลายคนแล้ว ประกอบกับผลการดำเนินงานก็ 'ขาดทุนสุทธิ' อย่างต่อเนื่อง  

สะท้อนผ่านตัวเลขขาดทุนสุทธิ 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) ที่มีขาดทุนมากขึ้นทุกปี อยู่ที่ 76.90 ล้านบาท 85.95 ล้านบาท และ 237.87 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 728.82 ล้านบาท 655.24 ล้านบาท และ 256.82 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทว่า เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา องค์กรแห่งนี้มีซีอีโอคนใหม่ 'ไต้ จง อี้' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ AEC เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังถึงการตัดสินใจมารับตำแหน่งซีอีโอที่บล.เออีซี ว่า ก่อนตัดสินใจมาถามคนรู้จักไป 10 คน ทุกคนบอกว่าอย่ามา ! แต่ทำไมผมจึงมา เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ 'ชื่นชอบ' ตั้งแต่วัยเด็ก 

และที่สำคัญอยากสร้าง 'ผลงานชิ้นโบว์แดง !' ให้ตัวเองก่อนเกษียณอายุ เพราะนี่คงเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ทำแล้ว จึงมองว่าเป็น 'ความท้าทาย' มาก หากตัวเองสามารถพลิกฟื้นธุรกิจของ บล.เออีซี ที่ผ่านมามีขาดทุนสุทธิ 4-5 ปีต่อเนื่องให้กลับมา 'เทิร์นอะราวด์' ได้อีกครั้ง   

'ด้วยอายุของตัวเองคงเป็นครั้งสุดท้ายของตัวเองที่จะสามารถสร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นของตัวเอง ที่จะทำให้ผมภูมิใจว่าสามารถทำให้บริษัทดังกล่าวเทิร์นอะราวด์ได้'

เขา บอกว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ (ประพล) ไม่ตั้งโจทย์อะไร !! มากดดันเร่งให้ทำเพียงแต่อยากให้ทำธุรกิจของ บล.เออีซี พลิกฟื้นกลับมา ซึ่งครั้งแรกที่มีโอกาสเจอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ผมก็พูดกับบอร์ดตรงๆ ว่า 'อย่าพึ่งคาดหวังว่าผมจะสามารถพลิกฟื้น AEC ให้กำไรทันทีในปีนี้' แต่หลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาโครงสร้างธุรกิจของ AEC พบว่า ยังมีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจได้อีกหลากหลายช่องทาง 

แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์จะมีความรุนแรงก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องของการแย่งชิงบุคลากร ฝ่ายการตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับแทบทุกบริษัท และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ธุรกิจหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นหรือลดลง    

โดยตัวเองเสนอเป้าหมายไปให้ 'โจทย์แรก' ต้องการทำให้เสร็จภายในเดือนเม.ย. นี้ นั่นคือ การแก้ปัญหาเรื่อง 'บุคลากร' (คน) ซึ่งมูลค่าของบริษัทอยู่ที่คน ดังนั้นจะมีการปรับโครงสร้างคนใหม่ให้เหมาะสมกับแต่ละแผนกและประสิทธิภาพของแต่ละคน และปลูกฝังให้คนคิดเสมอว่าบริษัท (บล.เออีซี) ก็คือบ้านหลังที่สองของทุกคน อยู่ที่บ้านทำแบบไหนก็อยากให้ทำแบบนั้นกับบริษัทเช่นกัน ปัจจุบันมีพนักงาน 140 คน 

'ผมมองว่าองค์กรแห่งนี้ต้องปรับโครงสร้างคนครั้งใหญ่ ซึ่งจะให้สิทธิคนเก่าก่อนในการปรับตัวหากทุกคนต้องการให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ผมจะพูดเสมอว่าต้องการให้ AEC กินยาพาราต่อไป แต่สุดท้ายก็ต้องตาย หรือจะยอมให้ผ่าตัดซึ่งมีโอกาสตายแต่ก็มีโอกาสรอดเช่นกัน และคนของ AEC ต้องเลือกเอง'   

หลังจากแก้ไขปัญหาแรก 'โจทย์สอง' คือ ธุรกิจต้องเดินต่อไปได้และมีรายได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องหารายได้ และตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา 'ธุรกิจใหม่' อย่าง 'การปล่อยเงินกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน' โดยเห็นโมเดลของบริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด (MBK-G) อย่างไรก็ตามยังต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดอีกมากตอนนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น  

'ซีอีโอคนใหม่' บอกต่อว่า ที่ผ่านมา บล.เออีซี มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ 60% แต่ในปี 2562 สัดส่วนรายได้ 'ลดลง' เหลือ 20% ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่เชื่อว่าธุรกิจหลักทรัพย์ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทให้สามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไรได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องขึ้นกับปัจจัยหลายด้านประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพการซื้อขายของตลาดทุนว่าคึกคักเพียงใด 

ประกอบกับการนำเทคโนโลยี AI หรือ เทรดผ่านระบบออนไลน์ เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานทั้งส่วนขององค์กรและลูกค้า รวมถึงช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลงแต่ยังคงรักษาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจได้ และที่สำคัญคือหากสามารถรักษาความสมดุลในเรื่องของรายได้และผลตอบแทน ระหว่างบริษัทกับมาร์เก็ตติ้งก็จะสามารถแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ได้ในระยะยาว  

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บล.เออีซี ถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในกลุ่ม บล.ขนาดเล็ก ดังนั้น สำหรับเป้าหมายในอนาคตต้องการยกระดับขึ้นเป็น 'บริษัทหลักทรัพย์ขนาดกลาง' เพื่อให้มีมาร์เก็ตแชร์มากขึ้น ส่วนธุรกิจอื่นๆ ต้องพิจารณาว่าส่วนใดที่ไม่มีอนาคต ไม่สามารถสร้างรายได้ ก็จำเป็นที่จะต้องตัดทิ้งไป ส่วนที่สร้างรายได้ก็พร้อมส่งทีมงานเข้าไปเสริม  แต่การดำเนินงานทั้งหมดไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนของบริษัทมาเป็นแรงสนับสนุน 

'ผมมาที่นี่อยากแสดงฝีมือให้ทุกคนเห็นว่า ทุกอย่างมีโอกาส และอยากให้ทุกคนมองเห็นโอกาสร่วมกัน อยากให้ทุกคนรู้ว่าถ้าบริษัทอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน' ซีอีโอคนใหม่ซ้ำเช่นนั้น ! 

ท้ายสุด 'ไต้ จง อี้' ฝากไว้ว่า ผมพยายามมองหาธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับบริษัทซึ่งพบว่ายังมีโอกาสขยายไลน์เพื่อต่อยอดจากธุรกิจหลักทรัพย์ออกไปได้อีก เพียงแต่ต้องใช้เวลาซึ่งในอนาคตเชื่อว่า บล.เออีซี จะสามารถเทิร์นอะราวด์ได้ 

ก่อนนั่ง 'ซีอีโอ' บล.เออีซี ! 

'ไต้ จง อี้' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ AEC เล่าประวัติฉบับย่อให้ฟังว่า เป็นคนมาเลเซียเกิดและเติบโตที่ประเทศมาเลเซีย โดยครอบครัว (พ่อ-แม่) ทำธุรกิจธนาคาร (แบงก์) โดย 'คุณพ่อ' เป็นคนก่อตั้งธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศมามาเลเซีย หลังเรียนจบจากแคนนาดา อาชีพแรกคือ ทำงานธนาคารในมาเลเซีย ราว 6 ปี ! 

ก่อนจะถูกเลือกให้มารับตำแหน่งประจำสาขาที่ประเทศไทย โดยเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่พอครบกำหนดทางธนาคารแม่ก็ให้ทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไป 6 ปี ซึ่งตอนนั้นตัดสินใจว่าไม่ประจำสาขาที่เมืองไทยแล้วขอกับไปทำที่มาเลเซียกลับไปทำได้ไม่นานก็ถูกส่งตัวกลับมาที่เมืองไทยเหมือนเดิม ทำให้ตอนนั้นรู้สึกเริ่มเบื่อ จึงตัดสินใจลาออก !   

ประกอบกับช่วงนั้น มีงานที่อื่นติดต่อให้ไปทำด้วย ซึ่งเป็นธนาคารแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น แต่ให้ผมไปทำงานประจำที่สาขาในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผมก็มีหน้าที่ดูแลส่วนงานที่ปล่อยเงินกู้ให้เมืองไทย ดังนั้น ชีวิตก็ต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศสิงคโปร์และเมืองไทยตลอดทำงานอยู่ 3 ปี ก็ตัดสินใจลาออก เพราะเห็นประกาศรับสมัครของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งมีตำแหน่งว่างที่เมืองไทย แต่บริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ต้องการคนจากสิงคโปร์เพื่อไปประจำที่เมืองไทย 

'ผมก็อยากจะลองทำงานเพราะว่ายังไม่เคยทำงานกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และก็ได้กลับมาทำงานที่เมืองไทยอีกครั้ง หลังจากนั้นก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540'   

เขา เล่าต่อว่า ส่วนตัวมีความฝันตั้งแต่เป็นเด็ก ว่า อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ 2 อย่างคือ 'ธุรกิจหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์' โดยในปี 2007 จึงสนใจลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ เพราะมองว่าอสังหาฯ สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอด ด้วยการซื้อหุ้น 25% ที่เป็นเจ้าของที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ด้วยเงินลงทุน 100 ล้านบาท แต่ดีลดังกล่าวเกิดสะดุดหลังจากจ่ายเงินไปแล้ว 50 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันผมได้เงินคืนมาบางส่วนแต่ยังไม่ครบและกระบวนการอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง

'ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาฯ ที่ไม่ค่อยสวยหรูอย่างที่ตั้งใจไว้'    

ขณะที่ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ เดิมคุณพ่อเคยมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจหลักทรัพย์ที่มาเลเซียเช่นกันแต่ได้ขายออกไปแล้วตอนที่ผมเรียนอยู่ที่แคนนาดา ซึ่งผมไม่เคยเข้าไปทำงานที่นั้นเลย แต่เรื่องของการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ชื่นชอบตั้งแต่เด็กแล้ว ซึ่งผมมีโอกาสเข้าไปทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า ประมาณ 6 ปี ก่อนจะลาออกและไปทำงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และกลับมาทำงานที่ บล.ไอร่า อีกครั้งในตำแหน่ง IB 

จนกระทั้ง เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ตัดสินใจมารับตำแหน่ง 'ซีอีโอ' บล. เออีซี และการเข้ามาทำงานที่ บล.เออีซี ถือเป็นการทำตามความฝันอีกข้อของตัวเอง