‘เทเลเมดิซีน’ เทรนด์ฮิต เว้นระยะห่างหมอ-คนไข้

‘เทเลเมดิซีน’ เทรนด์ฮิต เว้นระยะห่างหมอ-คนไข้

โควิด-19 หนุน “เทเลเมดิซีน”ติดลมบน สตาร์ทอัพ-โรงพยาบาลเอกชนชิงโอกาสทยอยเปิดบริการ “อูก้า”แพลตฟอร์มปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ทำงานมือระวิงรองรับ ด้าน“สมิติเวช”ชูทีมแพทย์ครบวงจรเปิดแอพปรึกษาหมอเฉพาะทางเลี่ยงแพทย์กับผู้ป่วยพบปะโดยตรงสร้างความปลอดภัยทั้ง2ฝ่าย

โรงพยาบาลโดดรับโอกาสใหม่

งานสัมมนาออนไลน์ Techsauce Virtual Conference 2020 Episode 2 ภายใต้หัวข้อ What's Next for Health วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและนำไปสู่การปฏิวัติวงการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไร พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย นักกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า “เทเลเมดิซีน” (telemedicine) หรือบริการทางการแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารต่างๆ เป็นเทรนด์มาแรงแบบก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยต่างต้องการหลีกเลี่ยงการพบปะกันโดยตรง เพื่อความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งยังช่วยลดความถี่การมาโรงพยาบาลของกลุ่มเสี่ยงน้อย

ในช่วง 3 เดือนแรกที่เกิดภาวะโควิด ประชาชนจำนวนมากเกิดการเปิดรับนวัตกรรมและเทรนด์ใหม่ๆ ได้เร็ว (New Early Adoption) เนื่องจากคนไข้มีความกังวลในช่วงนี้เพราะฉะนั้นเทเลเมดิซีนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานปรึกษาได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และสามารถส่งต่อเคสไปหาเชื้อที่โรงพยาบาลได้อีกด้วย ทำให้การใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดดเกือบ 10 เท่า

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลังโควิด คือดีมานด์อุปกรณ์ทางการเเพทย์หรือซัพพลายเชนต่างๆ จะลดลง โรงพยาบาลปรับตัวโดยการนำเทเลเมดิซีนมาใช้เพิ่มขึ้น ขณะที่สมิติเวชถือเป็นโรงพยาบาลแรกๆ ที่จัดวางระบบรองรับผ่านแอพพลิเคชั่น “Samitivej Virtual Hospital” แม้ว่าช่วงแรกมีการใช้งานไม่มาก แต่เมื่อเกิดโควิดพบการใช้พุ่งสูงหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีบริการติดตามข้อมูลสุขภาพออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Engage Care โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดค่าสุขภาพเบื้องต้น เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความแม่นยำในการบันทึกข้อมูล ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคแทรกซ้อน และช่วยให้ความอุ่นใจสำหรับผู้ใช้บริการเสมือนมีแพทย์ดูแลแม้อยู่ที่บ้าน"

158764772078

จุดเปลี่ยนยกระดับคุณภาพชีวิต

พญ.ศกุนี กล่าวเสริมว่า เทเลเมดิซีนจะอยู่ต่อได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งฝั่งของเเพทย์ที่จะต้องจัดเวลามาให้คำปรึกษากับคนไข้หลังจากเวลางาน และฝั่งคนไข้เองที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนและช่องทางออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งผลจาก new normal ที่ทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพเเละตื่นตระหนกกับเรื่องของการป้องกันจากโรคภัยที่มากขึ้น

158764774080

อย่างไรก็ตาม เรื่องความลับข้อมูลผู้ป่วยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้สุดท้ายแล้วผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น จึงถือได้ว่าโควิดนับเป็นผู้เปลี่ยนเกมของเทเลเมดิซีนที่ปลดล็อคทุกอย่าง ส่วนประการที่ว่าเฮลท์แคร์อาจจะถูกดิสรัปชั่นนั้นคาดว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะคนไข้ยังต้องการการปฏิสัมพันธ์เเละความสัมพันธ์เเบบเดิมๆ จากแพทย์ ซึ่งยากที่จะหาอะไรมาทดเเทน ส่วนประเด็นที่ว่าเทเลเมดิซีนจะเข้ามาเเทนการรักษาเเบบเดิมหรือไม่ มองว่าเป็นคนละตลาดแต่จะเป็นตัวเสริมเเละตัวเลือกให้กับผู้ที่สะดวกจะใช้มากกว่า”

หากมองด้านดีแล้ว วิกฤติโควิด-19 ได้กระทบต่อผู้บริโภคและนำไปสู่การปฏิวัติวงการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ส่งผลให้อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์มีช่องทางที่จะพัฒนาให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนที่ว่าจะเกิดได้เร็วช้าแค่ไหนนั้น ก็ต้องดูจากนโยบายภาครัฐ เงินทุนและตัวผู้ใช้บริการเองที่จะต้องพร้อมรับบริการเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้น โลกเฮลท์แคร์หลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จิตแพทย์หน้าจอลดเครียด

ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Ooca (อูก้า) กล่าวว่า คนไทยเผชิญความเครียดทั้งจากปัญหาภายในครอบครัวและการทำงาน จึงต้องมีวิธีจัดการอารมณ์อย่างถูกต้องเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้นก่อนจะสายเกินแก้ และเมื่อเกิดการเว้นระยะห่างเพื่อลดการแพร่เชื้อ ทำให้มองเห็นข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์รวมถึงการปรึกษากับจิตแพทย์ เพราะทั้งจำนวนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่ได้มีพร้อมในทุกโรงพยาบาลโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งต้องวิตกกับสายตาและทัศนคติที่มีต่อคนที่ไปพบจิตแพทย์

158764844589

“อูก้าเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นสะพานเชื่อมผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในหลากหลายกลุ่มอาการ ที่จะสามารถรองรับการให้คำปรึกษาได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว การงาน ผ่านวีดิโอคอล พร้อมโปรแกรมวิเคราะห์ความเครียด”

อูก้าดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 2 ปี พบว่าการเข้าใช้บริการในช่วงเทศกาลจะลดลงชัดเจน เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการพบปะครอบครัวและสังสรรค์ แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด พบการใช้งานเพิ่มขึ้นทั้งยังเห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น อีกทั้งข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยบนอูก้ามีสัดส่วนการใช้บัตรเดบิตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เป็นบัตรเครดิต ถือได้ว่าทางฝั่ง B2C มีลูกค้ากลุ่มเซกเมนต์ใหม่มากขึ้นในหลากหลายประเทศ ส่วนทางฝั่ง B2B ก็มีภาคธุรกิจ บริษัทใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกันเพื่อหาเซอร์วิสให้กับพนักงานในการดูแลด้านจิตใจและความปลอดภัยของคนในองค์กร

158764850989

ส่วนในอนาคตคาดว่าประชาชนจะให้ความสนใจเรื่องเฮลท์แคร์มากขึ้น ทั้งจะมีนักลงทุนสนใจในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น เเต่เนื่องจากโรคระบาดครั้งนี้ทำให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ก็อาจจะทำให้การเลือกลงทุนในเซกเมนต์นี้ยังไม่มีกำไรพอควร