‘สมคิด’ สั่งโยกงบกองทุนอนุรักษ์ 5.6 พันล้าน ฉีดเศรษฐกิจฐานราก

‘สมคิด’ สั่งโยกงบกองทุนอนุรักษ์ 5.6 พันล้าน ฉีดเศรษฐกิจฐานราก

“สมคิด” สั่งโยกงบกองทุนอนุรักษ์ 5.6 พันล้าน ฉีดเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจ้างงานพร้อมกระจายรายได้ชุมชน

เมื่อวันที่ 23 เม..63 นายกุลิศ  สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยภายหลังการประชุมกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในทบทวนกรอบวงเงินกองทุนอนุรักษ์ปีงบประมาณ 2563 จากเดิมที่กำหนดกรอบวงเงินที่ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน วงเงิน 5,000 ล้านบาท แผนพลังงานทดแทน วงเงิน 4,700 ล้านบาท และแผนบริหารสำนักงาน 300 ล้านบาท ที่จะมีการปรับลดโครงการที้ไม่จำเป็น ให้เกิดความกระชับกับระยะเวลาที่เหลือก่อนจะหมดปีงบประมาณ โดยปรับแผนเพิ่มประสิธิภาพฯ ลดเหลือ 2,400 ล้านบาท และปรับแผนพลังงานทดแทนลดเหลือ 3,200 ล้านบาท รวมงบทั้งหมดในปีนี้ 5,600 ล้านบาท

"จากการประเมินระยะเวลาการดำเนินโครงการจะแค่ 3 เดือนก่อนจะหมดปีงบ จึงจำเป็นต้องลดตัวโครงการที่ไม่จำเป็นออก รวมถึงจะเร่งให้มีการตรวจสอบและเร่งรัดโดยเร็ว ซึ่งจะมีการประกาศหลักเกณฑ์และสามารถเปิดยื่นโครงการได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 63"

ทั้งนี้  รองนายกสมคิดได้กำชับว่าหลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลาย จะต้องมีการดำเนินงานให้ถูกจุดโดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และทำให้เกิดการจ้างงาน โดยโครงการที่จะเสนอเข้ามาเพื่อขอใช้งบประมาณตั้งแต่ปี 63-64 จะต้องเข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว นอกจากยังนี้ได้อนุมัติให้แต่ละจังหวัดเสนอโครงการเข้ามาว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับด้านพลังงานที่เป็นโครงการที่สร้างรายได้ชุมชน สร้างอาชีพ หรือสนับสนุนการท่องเที่ยว ให้เป็นโครงการกลางของจังหวัดที่สร้างความเข้มแข็งให้กับคนในพื้นที่ โดยมีหลายจังหวัดได้เตรียมเสนอโครงการเข้ามาแล้ว

วงเงิน 5,600 ล้านบาทนั้น จะมีการใช้งบฯ ประมาณ 3,600 ล้านบาท เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19 โดยจะเป็นงบที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศประสานงานกับพลังงานจังหวัดเสนอโครงการเข้ามา ทั้งโครงการโซลาร์สูบน้ำ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว การจ้างงาน การปลูกดอกไม้ การจัดทำห้องเย็นของแต่ละจังหวัด เพื่อรองรับการท่องเที่ยวการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ที่จะคลี่คลายอย่างเห็นได้ชัดในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการของบกองทุนฯ จะเปิดให้ทางจังหวัดเสนอโครงการและอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคมและเริ่มเบิกจ่ายในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการกองทุนของปีงบประมาณ 64 นั้นก็ได้วางแนวทางต่อเนื่องกับปี 63 ซึ่งจะใช้ฐานของโครงการที่ได้เสนอมา ซึ่งการกำหนดงบประมาณจะต้องดูเงินที่เข้ามาในกองทุนน้ำมันว่าจะมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะกำหนดงบในปีนั้น ถ้าผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ยังยาวนานต่อเนื่องทำให้การใช้น้ำมันยังน้อยและไม่มีเงินเข้ามาในกองทุนก็อาจจะต้องปรับลดยอด และกรอบวงเงินเหมือนกับปีงบ 63 ในขณะที่เงินที่ถูดตัดออกไปก็จะนำไปสะสมไว้ในกองทุนเพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต แต่หากว่าสถานการณ์กลับมาปกติ และมีเงินไหลเข้ากองทุนมากขึ้น งบประมาณที่กำหนดก็จะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทเช่นเดิม เพราะเชื่อว่าเงินดังกล่าวจะไปช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้