'แอมเนสตี้' ชี้ทางการไทยจำกัด 'เสรีภาพ' ในการแสดงออกออนไลน์

'แอมเนสตี้' ชี้ทางการไทยจำกัด 'เสรีภาพ' ในการแสดงออกออนไลน์

"แอมเนสตี้" ชี้ทางการไทยจำกัด "เสรีภาพ" ในการแสดงออกออนไลน์ ใช้ "กฎหมาย" ที่เข้มงวดเพื่อปราบปรามผู้วิจารณ์รัฐบาล ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ ว่า การที่ทางการไทยดำเนินคดีกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อวิจารณ์รัฐบาลและราชวงศ์ ถือเป็นการปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อผู้เห็นต่าง และสถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากการเพิ่มมาตรการจำกัดต่างๆ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 

รายงานเรื่อง  “มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” (They are always watching) เผยให้เห็นว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้กฎหมายที่เขียนอย่างกำกวม และให้อำนาจอย่างกว้างขว้างมากขึ้น เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้วิจารณ์อย่างสงบหลายสิบคน นับแต่ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อปีที่แล้ว

แคลร์ อัลแกร์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการระดับโลก ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าการคุกคามและดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างบนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ที่มีเป้าหมายเพื่อปิดปากผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากตน 

“การโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ของรัฐบาล เป็นการกระทำที่น่าละอายเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบโดยผู้ที่กล้าตั้งคำถามกับพวกเขา การปราบปรามยิ่งหนักข้อมากขึ้น เนื่องจากดูเหมือนว่าทางการได้ใช้โอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้าง เพื่อกำจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และจำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย” 


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการเพื่อจัดทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่ารัฐบาลไทยเอาผิดทางอาญากับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้เพื่อปิดปากผู้ที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์ทางการ 

ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายการปราบปรามจากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์หลายคน ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล และอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับเป็นเงินจำนวนมาก

การจำกัดสิทธิเพิ่มขึ้นท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อเดือนที่แล้วพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งยิ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบยิ่งขึ้น

การปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์

หลังการปกครองด้วยระบอบเผด็จการโดยทหารมากึ่งทศวรรษ นับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2557 หลายคนคาดหวังว่าการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน แต่หนึ่งปีผ่านไปภายใต้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลทหารชุดที่แล้วเช่นกัน รัฐบาลจากการเลือกตั้งของไทยยิ่งเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการปราบปรามการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาถูกคุกคามและข่มขู่ หากโพสต์ข้อความวิจารณ์ทางการและข้อความนั้นกลายเป็นไวรัล

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นักศึกษาคนหนึ่งถูกจับและสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย ถือเป็นการลงโทษหลังจากเธอทวีตข้อความเกี่ยวกับรัฐบาลและราชวงศ์ โดยข้อความหนึ่งถูกรีทวีตถึง 60,000 ครั้ง ก่อนที่จะลบบัญชีของตัวเองไป  นักศึกษาคนดังกล่าวทวีตข้อความว่า  “อยากเตือนคนที่ผ่านมาอ่านทวิตหรือรีอะไร คิดดีๆ ก่อนนะ ระวังตัวด้วย มันมีคนจับตาดูอยู่จริงๆ” ตำรวจบังคับให้เธอลงชื่อในเอกสารระบุว่า จะถูกดำเนินคดีหากโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอนาคต 


“การโจมตีอย่างเป็นระบบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นนี้ ถือว่าขัดกับความพยายามของประเทศไทยในการสร้างภาพว่า เป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม”  แคลร์ อัลแกร์กล่าว


การแสวงหาประโยชน์จากกฎหมาย

รัฐบาลใช้กฎหมายเผด็จการหลายฉบับเพื่อปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2559 ให้อำนาจทางการในการตรวจสอบและปราบปรามเนื้อหาออนไลน์ และดำเนินคดีกับบุคคลจากการละเมิดกฎหมายที่มีเนื้อหากว้างขวาง นอกจากนั้น มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาที่มีเนื้อหากว้างขวาง ยังกำหนดโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีจากการกระทำที่ถือเป็นการยุยงปลุกปั่น 

นอกจากนั้น มาตรา 326 ถึง 333 ของประมวลกฎหมายอาญาเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาท โดยให้อำนาจทางการคุมขังบุคคลที่ถูกมองว่า “ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ” ของเจ้าหน้าที่ แม้จะว่างเว้นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกมองว่าวิจารณ์ราชวงศ์ แต่รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายอย่างอื่นเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ได้ถูกใช้เพื่อดำเนินคดีอาญากับบุคคล ซึ่งโพสต์ข้อความที่ถูกมองว่าสร้างความเสียหายต่อราชวงศ์และทางการ 

โรคโควิด-19 อาจถูกใช้เพื่อเพิ่มการโจมตีเป้าหมายที่เป็น ‘ข่าวปลอม’ 

ในความพยายามอย่างเป็นระบบเพื่อกำหนดเนื้อหาการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาลได้รับการก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อตรวจสอบเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่อาจให้ข้อมูลบิดเบือนกับประชาชน แต่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นเป็นอิสระ เพื่อมาตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่ถูกมองว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’

นอกจากจะละเลยข้อกล่าวหาว่ามีการใช้ “คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง” และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อต่อต้านนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ทางการยังเร่งใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ถูกมองว่า “เป็นเท็จ” เกี่ยวกับโรคโควิด-19

ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเซ็นเซอร์ หรือแก้ไขข้อความที่ถูกมองว่าเป็นเท็จหรือบิดเบือน โดยอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความเข้าใจผิด และกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี  


“ทางการไทยต้องยุติการใช้กฎหมายอาญาต่อผู้วิจารณ์อย่างสงบ และป้องกันไม่ให้มีการจำกัดเพิ่มเติมต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยอ้างว่าเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19”


“คนทั้งหมดที่ถูกจับกุมเพียงเพราะแสดงความเห็นของตน ต้องได้รับการปล่อยตัว และให้ยกเลิกข้อหาต่อพวกเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข จนกว่าจะมีการดำเนินการดังกล่าว ระหว่างนี้ประชาคมระหว่างประเทศควรแสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อทางการไทยว่า จะไม่ยอมอดทนให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเช่นนี้อีก”  แคลร์ อัลแกร์กล่าว

อ่านข้อมูลฉบับเต็ม