‘หุ้นแบงก์’ดิ่งสวนทางงบ โบรกห่วง NPL พุ่ง

‘หุ้นแบงก์’ดิ่งสวนทางงบ โบรกห่วง NPL พุ่ง

ราคาหุ้น "กลุ่มธนาคาร" โดยภาพรวมฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้กว่า 9% แต่ยังคงต่ำกว่าภาพรวมตลาด ซึ่งดัชนี SET ฟื้นตัว 11% และล่าสุดนี้ (22 เม.ย.) หุ้นกลุ่มธนาคารกลายมาเป็นกลุ่มที่กดดันตลาดมากที่สุด

ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 จาก 11 บริษัท รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยมีกำไรรวมกัน 4.41 หมื่นล้านบาท ลดลง 18.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ธนาคารที่กำไรดีกว่าคาด คือ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) ส่วน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) กำไรต่ำกว่าคาด

โดยภาพรวมกำไรของกลุ่มธนาคารในไตรมาสแรกดีกว่าที่ควรจะเป็น เพราะยังไม่เห็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" เต็มที่ และ NPL ไม่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ หากมองไปข้างหน้าคุณภาพหนี้ยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะ SMEs จึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นแบงก์ใหญ่แม้ราคาหุ้นจะถูกก็ตาม

สำหรับ SCB (กำไรดีกว่าคาดในไตรมาสแรก) ช่วงที่ดีที่สุดได้ผ่านไปแล้วด้วยกำไร 9.25 พันล้านบาท ในไตรมาสแรก โดยได้อานิสงส์จากเงินส่ง FIDF ที่ลดลง ส่วนกำไรในช่วงที่เหลือของปีชะลอจาก NIM และ Non NII growth จะลดลงจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ (M-rate) 0.40% ในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะลดลงจากการปิดสาขาของแบงก์ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มตามฤดูกาล เราปรับลดกำไรปี 2563 ลง 14% เหลือ 3.08 หมื่นล้านบาท ติดลบ 24%

158756185486

ในส่วนของอีกสองแบงก์ใหญ่อย่าง KBANK และ BBL ซึ่งเป็นสองหุ้นในกลุ่มที่ร่วงลงหนักสุดราว 5% วานนี้ โดยแรงกดดันหลักน่าจะมาจากผลประกอบการที่ค่อนข้างอ่อนแอ

ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ มองว่า กำไรสุทธิของ BBL ที่ 7,671 ล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อน เป็นไปตามคาด ซึ่งการลดลงถูกกดดันจากผลขาดทุนการตีมูลค่าเงินลงทุนตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 แม้จะมี NIM และสินเชื่อที่โตขึ้น ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อของ BBL เติบโต 4.2% ในขณะที่ NPL ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 3.5%

อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ BBL ได้ตกลงแก้ไขสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคาร Permata จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชี เป็น 1.63 เท่าของมูลค่าทางบัญชี โดยคาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะสำเร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อ BBL จากต้นทุนการซื้อขายที่ลดลง เบื้องต้น คาดจะช่วยลดต้นทุนลงประมาณ 10%

ส่วน KBANK รายงานกำไรสุทธิไตรมาสแรกที่ 6,582 ล้านบาท ลดลง 34.5% จากปีก่อน ต่ำกว่าคาด จากการรับรู้ผลขาดทุนจากการตีมูลค่ายุติธรรมและการตั้งสำรองที่สูง เรากังวลต่อ NPL ของ KBANK จากสัดส่วนสินเชื่อ SMEs ที่ค่อนข้างสูง รวมถึงมีสัดส่วนสินเชื่อกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวสูงถึง 20% ของสินเชื่อรวม ทำให้คาดแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 จะอ่อนแอ โดยรวมจึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 - 2564 ลง จากการปรับเพิ่มสมมติฐาน Credit Cost ขึ้น เพื่อสะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ที่เลวร้าย แม้อัพไซด์ของราคาหุ้นจะสูง แต่กลยุทธ์การลงทุนเราแนะนำรอซื้อเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัว

ทั้งนี้ บล.บัวหลวง มีมุมมองต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นภายหลังการประกาศกำไรในไตรมาสแรกนี้ว่า เริ่มมีสัญญาณเตือนของการปรับฐานรอบใหม่ ซึ่งอาจยังไม่ใช่ช่วงนี้แต่มองว่าอยู่ในช่วงผลประกอบการ (ทุกบจ.) ออกครบในเดือนหน้า โดยจะเห็นว่าหุ้นบางตัวเริ่มมีราคาเต็มมูลค่า

อย่างหุ้นกลุ่มธนาคารบางตัวที่รายงานกำไรดีกว่าคาด แต่ราคาหุ้นไม่ปรับขึ้น ส่วนธนาคารที่กำไรแย่กว่าคาดโดนเทขายค่อนข้างหนัก ดังนั้น เรามองว่าราคาหุ้นที่ขึ้นรับความคาดหวังงบดี มีความเสี่ยงโดนขาย ส่วนที่งบฯ ผิดหวังแน่นอนว่าสมควรลงแรง เพราะราคาขึ้นมารับความหวังไปมาก