ค่ายรถอีวีบุกออนไลน์ 'ไลฟ์สดขาย-ส่งเดลิเวอรี่'

ค่ายรถอีวีบุกออนไลน์ 'ไลฟ์สดขาย-ส่งเดลิเวอรี่'

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าฯ แนะธุรกิจยานยนต์เร่งปรับรูปแบบการทำงานรับโควิดดิสรัปท์! หลังพบพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์เพิ่ม แนะสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เดลิเวอรี่ส่งรถถึงบ้าน พร้อมเปิดเกมรักษาสายพานการผลิตรอโอกาสฟื้นตัว

"หัวใจบริการ” คีย์ซัคเซสธุรกิจ

กฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ซึ่งอีกหมวกหนึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ Techsauce Virtual Conference 2020 Episode 2 หัวข้อ “การปรับตัว การคาดการณ์และโอกาสในการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงระหว่างและหลัง COVID-19” ว่า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ตกอยู่ในสถานการณ์ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” นับตั้งแต่ปี 2562 หลังเผชิญสารพัดปัจจัยลบตั้งแต่กำลังซื้อในประเทศลดลง เงินบาทแข็งค่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐ หรือแม้กระทั่งที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

158747622481

ค่ายรถยนต์บ้านเราและทั่วโลกเริ่มที่จะออกมาประกาศพักสายพานการผลิต ปิดโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมปรับกลยุทธ์ชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงโควิด-19 โดยเริ่มชัตดาวน์ตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูมีไลน์การผลิต 15 ประเทศ รวมถึงโรงงานที่ระยองจะกลับเข้าสู่การผลิตอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย.นี้ เนื่องจากยังมีตลาดรองรับในประเทศจีนที่เริ่มฟื้นตัว”

ในวิกฤติมักจะมองเห็นโอกาสเสมอ ที่ผ่านมาหลายอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในไลน์การผลิต โดยในส่วนของบีเอ็มดับเบิลยู กฤษฎา กล่าวว่า ได้ปรับกลยุทธ์เช่นกัน โดยได้ปรับแต่ละส่วนงานขององค์กรทั้งในส่วนของโรงงาน ฝ่ายขาย การตลาดและการบริการสินเชื่อลูกค้า โดยแบ่งทีมงานเป็น 2 ทีมที่จะสลับกันมาทำงาน

เนื่องจากหากมีบุคคลใดในทีมติดเชื้อก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์เพื่อไม่ให้เชื้อเกิดการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถรันการทำงานต่อไปได้ พร้อมกันนี้บริษัทยังมีวิธีการมาช่วยสนับสนุนกระบวนการผลิตในช่วงนี้ โดยการทดลองใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ แต่ขณะนี้ยังเป็นโครงการนำร่องเพราะต้องการให้มีมาตรฐานและใช้งานได้จริงในระดับอุตสาหกรรม

รุกโมเดลใหม่“ไลฟ์สด”ขายรถ

กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า โควิดยังทำให้ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ในช่วงนี้ เช่น การเปิดตัวรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์จากหลากหลายค่าย รวมถึงการเปิดให้จองรถผ่านออนไลน์ ที่ทำให้ขั้นตอนการจองสะดวกรวดเร็ว ย่นระยะเวลาจากสัปดาห์ให้เหลือแค่ 3 นาที อาทิ บีเอ็มดับเบิลยูกรุ๊ป หนึ่งในผู้บุกเบิกการจองรถยนต์ออนไลน์รับจอง มินิ คูเปอร์ เอสอี รถพลังงานไฟฟ้า ที่ได้โควตามา 25 คัน ถูกจองเกลี้ยงแค่ไม่กี่ชั่วโมง

158747639811

อีกทั้งการขายรถออนไลน์ของดีลเลอร์หรือพนักงานขาย สามารถทำได้โดยตรงกับลูกค้าโดยการไลฟ์สดและรีวิว ลูกค้าสามารถสอบถามรายละเอียดจากพนักงานได้โดยตรง ทำให้ได้รับข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงเร็วขึ้น แต่การส่งมอบรถอาจยังต้องทำโดยการมาเจอตัวหรือใช้บริการเดลิเวอรี่เข้ามาเสริมทัพ อีกทั้งจะเป็นช่วงที่ของการรีโมเดลโรงงานเพื่อเริ่มต้นในการประกอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่

“ตั้งแต่มีโควิด19 โลกเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะยาวเรามองในทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงของการก้าวข้ามรถยนต์ที่เป็นระบบสัญญาณภายในสู่รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อหรือจองรถ จากวอร์คอินโชว์รูมจะเปลี่ยนเป็นการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดบนออนไลน์มากขึ้น ก่อนการตัดสินใจซื้อ”

ส่วนองค์ประกอบเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อที่เป็นส่วนหนึ่งของ ACES คือสิ่งที่ทุกค่ายรถยนต์ในไทยกำลังพัฒนาอยู่ นั่นก็คือ อิสระ (Autonomous) การเชื่อมต่อ (Connectivity) อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic) และ การแบ่งปัน (Sharing) เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องคาร์แชริ่งอาจเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เพราะคนอาจไม่อยากร่วมโดยสารขนส่งสาธารณะ จึงนิยมการมีรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น และจะยิ่งทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นที่นิยมเนื่องจากมีราคาไม่สูง ดังนั้น จึงต้องมีการต่อยอดและปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

ตอนนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ดีมานด์ เพราะผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจ เราอาจจะต้องพึ่งพาภาครัฐในการกระตุ้นแรงจูงใจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ อาทิ มาตรการส่งเสริมกำลังซื้อในราคาที่เหมาะสม มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการเพิ่มหัวจ่ายในพื้นที่สาธารณะ การใช้สิทธิ์ทางด่วน ที่จะผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เกิดได้เร็วขึ้นเช่นกัน” กฤษฎา กล่าว

เตรียมรับมือยอดขาย-ผลิตวูบ

สำหรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะรุนแรงขึ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ยอดขายในเดือน เม.ย.จะมีตัวเลขติดลบ ขณะเดียวกันทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2563 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ที่ 1.9 ล้านคัน ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1 แสนล้านบาท

158747643816

อีกทั้งจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในไทย 2 เดือนแรกกว่า 3 แสนคัน ลดลงจากเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 15% หากเป็นในส่วนของรถยนต์นั่ง 2 เดือนแรกมีจำนวนการผลิตอยู่ที่ 1.18 แสนคัน ลดลงประมาณ 20% ส่วนตัวเลขส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 1.6 แสนคัน ลดลง 11% สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ในระยะยาวนั้นยังไม่สามารถประเมินเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามสถานการณ์กันต่อไป