เปิดข้อจำกัด 'สถานการณ์ฉุกเฉิน' ที่ 'รัฐบาล' ญี่ปุ่น ไร้อำนาจ!

เปิดข้อจำกัด 'สถานการณ์ฉุกเฉิน' ที่ 'รัฐบาล' ญี่ปุ่น ไร้อำนาจ!

เปิดข้อจำกัดของการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ในญี่ปุ่น ประเทศที่พลเมืองมีวินัยสูงอันดับต้น ๆ ของโลก ที่ดูเหมือนไม่ช่วยอะไรมากนัก ในขณะที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งไม่หยุดเป็นกว่าหมื่นคน คำถามสำคัญคือสถานการณ์ฉุกเฉินสไตล์ญี่ปุ่นนี้จะคุมการระบาดได้อย่างไร

สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้อำนาจทางกฎหมายแก่ผู้ว่าการแต่ละเมือง "ขอ" ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและให้ธุรกิจปิดทำการได้ แต่ผลที่ได้คือ ยอดผู้ป่วยสะสมยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุ 11,000 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 260 คน (นับถึงวันที่ 21 เม.ย.)

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงกังวลอย่างยิ่งว่า สถานการณ์ในญี่ปุ่นอาจจะเลวร้ายกว่าเดิมหรือไม่ และจะยืดเยื้อต่อไปอีกนานเพียงใด ขณะที่รัฐบาลของอาเบะจะงัดกลยุทธ์หรือมาตรการมาควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้อย่างไร เพราะดูเหมือนสถานการณ์นี้ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น

กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินสไตล์ญี่ปุ่นแตกต่างกับของประเทศอื่น ๆ เพราะของประเทศอื่นกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนทั้งการปรับเงิน การจับกุม และการบังคับใช้ที่เข้มงวดกว่า ขณะที่สถานการณ์ฉุกเฉินของญี่ปุ่นเรียกได้ว่า “เข้มงวดน้อยกว่า” และ “มีอำนาจจำกัด” เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ

  • ทำไมมีอำนาจจำกัด?

รัฐบาลญี่ปุ่นเลี่ยงการใช้ “ไม้แข็ง” หรือบังคับใช้มาตรการแบบเข้มงวดมานานานหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความทรงจำอันเลวร้ายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิพลเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังยุคสงครามโลกที่สหรัฐมีส่วนร่วมร่างด้วย

“รัฐธรรมนูญฉบับเมจิ (ยุคก่อนสงครามโลก) เคยบัญญัติอำนาจเหล่านี้ไว้ แต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิกันอย่างกว้างขวาง” โคจู นากาอิ นักกฎหมายชาวญี่ปุ่นเผยกับรอยเตอร์ “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันร่างขึ้นจากแนวคิดที่ว่าสิทธิมนุษยชนควรได้รับการเคารพ”

ก่อนหน้านี้ พรรครัฐบาลของอาเบะเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะครอบคลุมถึงมาตราเกี่ยวกับอำนาจฉุกเฉินที่เข้มงวด ซึ่งบรรดานักวิจารณ์มองว่าอาจละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญในญี่ปุ่นเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่อาจเพิ่มความขัดแย้งในสังคม และอาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะแก้ไขสำเร็จ

  • ให้อำนาจใครบ้าง?

บรรดาผู้ว่าการในเมืองหรือภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักจากโรคโควิด-19 จะได้อำนาจทางกฎหมายเพิ่มในการขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดโรงเรียนและสถานที่ราชการหรือที่สาธารณะ และขอให้ภาคธุรกิจปิดทำการและยกเลิกอีเวนท์ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯแต่ละเมืองยังสามารถของให้สถานที่หรือธุรกิจที่มีผู้คนรวมตัวจำนวนมาก จำกัดจำนวนคนหรือปิดทำการได้ หากปฏิเสธที่จะทำตามคำขอโดยไม่มีเหตุผลสมควร ทางการก็จะออกคำแนะนำให้สถานที่เหล่านี้ปฏิบัติตาม และติดประกาศแนะนำนี้ให้สาธารณชนรับรู้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการใช้มาตรการกดดันทางสังคมนั่นเอง

ประเภทธุรกิจที่ถูกขอให้ปิดทำการในกรุงโตเกียว รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ไนท์คลับ ร้านปาจิงโกะ และแหล่งการพนันต่าง ๆ

กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ให้อำนาจทางการท้องถิ่นในการสั่งให้มีการจำหน่ายสินค้าจำเป็น เช่น ยาและอาหาร และขอหรือสั่งให้มีการขนส่งสินค้าบางประเภทแบบฉุกเฉินได้

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังสามารถเวนคืนที่ดินและอาคารสำหรับทำเป็นศูนย์การแพทย์หรือโรงพยาบาลได้ด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้บางอุตสาหกรรม เช่น สาธารณูปโภค คมนาคม และสถานีโทรทัศน์สาธารณะ “เอ็นเอชเค” เป็นสถาบันสาธารณะเฉพาะกิจ ที่รัฐสามารถกำหนดให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและบริการที่จำเป็นได้ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • เห็นผลแค่ไหน?

ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯบางเมืองได้ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลีกเลี่ยงฝูงชน และทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ไปแล้ว ซึ่งถือว่าได้ผลอยู่บ้าง แต่ยังไม่มากถึงระดับที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต้องการ

ผลสำรวจเมื่อไม่นานนี้ซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัย “เพอร์โซล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติง โค” ในกรุงโตเกียว พบว่า ลูกจ้างญี่ปุ่นเพียง 40% ใน 7 จังหวัดรวมถึงโตเกียว ซึ่งเป็นกลุ่มพื้นที่แรกที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เลือกทำงานจากที่บ้าน เพื่อเลี่ยงการระบาดของโควิด-19

ผลสำรวจออนไลน์ดังกล่าวเก็บข้อมูลจากพนักงาน 25,800 คนที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 10-12 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด

ในกลุ่มพนักงานประจำที่ตอบแบบสอบสำรวจนี้มีเพียง 12,700 คนที่อยู่ใน 7 จังหวัด หันมาทำงานทางไกล หรือทำงานจากบ้าน ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความคาดหวังจากการประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน

ขณะเดียวกัน อัตราของลูกจ้างที่ทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ 38% เทียบกับผลสำรวจก่อนหน้าเมื่อเดือน มี.ค. โดยพื้นที่ที่มีอัตราการ Work From Home มากที่สุดคือกรุงโตเกียว อยู่ที่ 49.1% ขณะที่จังหวัดคานางาวะ, ไซตามะ และชิบะ อยู่ที่ระหว่าง 30-40% ส่วนจังหวัดโอซากา, เฮียวโงะ และฟูกูโอกะ อยู่ที่ระหว่าง 20-30%

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจราว 60% บอกว่า หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขายังไปทำงานที่สำนักงานของตน แม้จะไปเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนัก มีแนวโน้มจะปฏิบัติตามคำขอรอบใหม่จากทางการ

“รัฐญี่ปุ่นทรงพลังในการหล่อหลอมสังคม และมีอำนาจมหาศาลในการกล่อมเกลาจริยธรรมประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ที่ชาติตะวันตกไม่มี” โคอิจิ นากาโนะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโซเฟียในกรุงโตเกียว กล่าว