นักวิเคราะห์ฟันธง เศรษฐกิจเอเชีย ฟื้นเร็ว หลัง 'โควิด-19' สงบ

นักวิเคราะห์ฟันธง เศรษฐกิจเอเชีย ฟื้นเร็ว หลัง 'โควิด-19' สงบ

เปิดสาเหตุ ทำไมนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันจึงประเมินว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคตะวันตก !?

ขณะนี้คนส่วนใหญ่คงพอจะมองออกแล้วว่าหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก แต่มีนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันประเมินว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคตะวันตก ด้วยเหตุผลนานาประการ รวมถึงการที่เอเชียมีประสบการณ์รับมือกับโรคระบาดมาก่อน

เจพี มอร์แกน บริษัทให้บริการทางการเงิน และการลงทุน มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโควิด-19 ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดย “เดวิด เคลลีย์” หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของเจพีมอร์แกน ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของเอเชียตะวันออกนั้นมีแนวโน้มค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการค้า ช่วงครึ่งหลังของปี 2563

เคลลีย์ ระบุด้วยว่า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลงเนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์และเว้นระยะห่างทางสังคมในหลายประเทศ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง มีโอกาสดีกว่าที่สหรัฐ หรือ ยุโรป สามารถทำได้

ความเห็นของเคลลีย์ สอดคล้องกับความเห็นของ ผู้จัดการพอร์ตลงทุนในบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ที่เห็นว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ นักลงทุนย่อมแสวงหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย

การระบาดรุนแรงของโรคต่างๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพราะเมื่อปี 2546  เอเชียก็เผชิญกับโรคซาร์สมาแล้ว ทำให้รัฐบาลในเอเชียจัดเตรียมตัวเองให้แข็งแกร่งเพื่อรับมือหายนะในครั้งถัดไป

"แอนดรูว์ ฮาร์มสโตน" ผู้จัดการพอร์ตลงทุนอาวุโสของมอร์แกน สแตนลีย์ แนะนำว่า นักลงทุนควรมองไปที่การลงทุนในเอเชีย เพราะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวและออกจากวิกฤติไวรัสได้ดีกว่าชาติตะวันตก

"เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะย้ายพอร์ตการลงทุนไปที่จีนหรือเอเชีย เพราะไวรัสได้ย้ายศูนย์กลางระบาดจากเอเชียไปตะวันตก ที่นับจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้" ฮาร์มสโตน กล่าว

ฮาร์มสโตน และนักวิเคราะห์อีกหลายคน ระบุว่า เหตุผลที่จะทำให้เอเชียฟื้นตัวจากวิกฤติได้ดีกว่าตะวันตก เป็นเพราะเอเชียมีการเตรียมความพร้อมมากกว่า เนื่องจากมีประสบการณ์จากวิกฤติครั้งก่อนๆ การระบาดรุนแรงของโรคต่างๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพราะเมื่อปี 2546  เอเชียก็เผชิญกับโรคซาร์สมาแล้ว ทำให้รัฐบาลในเอเชียจัดเตรียมตัวเองให้แข็งแกร่งเพื่อรับมือหายนะในครั้งถัดไป เช่นเตรียมฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งไว้พร้อมรองรับผลกระทบจากภายนอก

  158739998883

นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียยังเรียนรู้และเบียนแบบจีนในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรน่า ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ต่างใช้มาตรการที่เข้มงวดจึงทำให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว

เคลลีย์ ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐในไตรมาส 2 จะหดตัวอย่างรุนแรงเพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้และการล็อกดาวน์ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมี.ค.

"ผมคิดว่าจีดีพีสหรัฐในไตรมาสแรกจะติดลบแต่ในไตรมาส 2 จีดีพีอาจจะหดตัว 20-25% ถือว่าหดตัวรุนแรง และถ้ารัฐบาลสหรัฐเปิดประเทศอีกครั้งและดำเนินการทุกอย่างเหมือนช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ไวรัสอาจจะกลับมาระบาดซ้ำและอาจทำให้สหรัฐตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก" เคลลีย์ กล่าว

เคลลีย์ คาดการณ์ด้วยว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นรูปตัวยูก่อนจะฟื้นตัวในปี 2564 

Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกระบุว่า ราวเที่ยงวานนี้ (20 เม.ย.) ตามเวลาประเทศไทย สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สะสมจำนวน 764,265  ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 40,565 ราย โดยสหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า และผู้เสียชีวิต

สำหรับยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าทั่วโลก อยู่ที่ 2,407,537 ราย และยอดผู้เสียชีวิตรวมทั่วโลกอยู่ที่ 165,082 ราย

ส่วนบริษัทในเอเชียส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีฐานะเงินสดสุทธิแข็งแกร่งกว่าบริษัทตะวันตก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทในเอเชียใช้วิธีควบคุมต้นทุนและมีวินัยในการลงทุน ทำให้สามารถกลับไปลงทุนในธุรกิจและคว้าส่วนแบ่งตลาดกลับมาได้ในทันทีที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

อีกเหตุผลที่สำคัญคือ ธนาคารกลางในเอเชียยังมีช่องว่างให้สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก จึงมีโอกาสที่จะใช้มาตรการทางการเงินเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ ต่างจากสหรัฐ และยุโรปที่ดอกเบี้ยต่ำมากจนเป็นศูนย์หรือติดลบ เพราะฉะนั้นธนาคารกลางในเอเชียจึงยังมีเครื่องมือที่จะรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐหรือยุโรปที่เริ่มจะหมดเครื่องมือแล้ว

158740000697

ก่อนหน้านี้ "แมคเคนซีย์" ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้เผยแพร่รายงานวิจัยเขตเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกที่บ่งชี้ว่า เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ยุติลง โลกใบนี้จะเปลี่ยนไป แต่ภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ฟื้นตัวได้เร็วและสร้างบรรทัดฐานใหม่เป็นที่แรก

รายงานของแมคเคนซีย์ ระบุว่า มีเขตเศรษฐกิจที่มีผลงานดี มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่อหัวประชากรต่อปีมากกว่า 3.5 %ในช่วงระยะ 50 ปี แม้แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศเหล่านี้ ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีได้ในเวลาเพียง 1 ถึง 2 ปี และเตรียมตัวรับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 ได้เป็นอย่างดีด้วย ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่ว่า คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

แม้แต่นักธุรกิจระดับโลกอย่าง "บิล เกตส์" ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ยังบอกว่า ต้องใช้เวลาสักพักกว่าโลกจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของผู้คนอาจเปลี่ยนไปตลอดกาล

เกตส์ มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐจะกลับมาเป็นปกติในช่วงต้นเดือนมิ.ย. แต่อาจจะยังไม่ 100% โดยโรงงานอาจเริ่มกลับมาเดินสายการผลิตได้ กลับมาเริ่มงานก่อสร้างได้ เด็กๆ เริ่มไปโรงเรียนได้ตามปกติ ส่วนกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก หรือการรับประทานอาหารในร้านที่มีคนจำนวนมากอาจยังทำไม่ได้เหมือนเดิม

ขณะที่อุตสาหกรรมบริการ การแข่งขันกีฬา หรือแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่ได้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจ ไม่กล้าเดินทางไปเที่ยว ไม่กล้าไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ความต้องการจึงไม่เกิดขึ้น โลกจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้จริงๆ ต้องเป็นหลังจากผลิตวัคซีนได้ ซึ่งคาดว่าต้องรอต่อไปอีกอย่างน้อย 18 เดือน