‘ฮีทสโตรก’ ภัยร้ายหน้าร้อน

‘ฮีทสโตรก’ ภัยร้ายหน้าร้อน

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ภัยเงียบที่มาพร้อมหน้าร้อน มีวิธีเช็คอาการเสี่ยง การปฐมพยาบาลและการป้องกันอย่างไรบ้าง

ไม่ใช่แค่โรคโควิด-19 เท่านั้นที่น่ากลัว เพราะหลังจากเข้าหน้าร้อนประเทศไทยอย่างทางการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนเมษายนนี้ถือว่าเป็นเดือนพีคที่พระอาทิตย์เข้าใกล้ไทยได้มากที่สุด ทำให้กลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อนในทุกๆ ปี คือ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และมีอันตรายถึงแก่ชีวิต 

  • อาการของโรคฮีทสโตรก 

โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส สำหรับอาการที่เบื้องต้นได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ระยะถัดมาอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้ บางรายอาจถึงขั้นชักกระตุกและหมดสติ มีไข้สูง ตัวร้อนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้

158738032591

  • สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก

สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรกคือ ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคฮีทสโตรก

บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ ผู้สูงอายุ  เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด  ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง   เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด 

158738069956

  • การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เมื่อเจอผู้ประสบเหตุเป็นลมกลางแดด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดย การนำตัวเข้ามาในที่ร่ม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

  • วิธีการป้องกันโรคลมแดด

หากเริ่มรู้สึกร้อนมากๆ เนื่องจากทำกิจกรรมหรือทำงานกลางแจ้งนานๆ ให้เลี่ยงออกจากพื้นที่ โดยต้องพักจากกิจกรรมนั้น เพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง ด้วยการเปิดพัดลม ดื่มน้ำเย็น ใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้า เช็ดตัว เพื่อเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกาย ที่สำคัญควรจิบน้ำบ่อยๆ แม้ไม่รู้สึกกระหายก็ตาม นอกจากนี้ ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ควรจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.