ดีเดย์ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท-ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขั้นตอนเดียว  20 เม.ย.นี้

ดีเดย์ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท-ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขั้นตอนเดียว  20 เม.ย.นี้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร ยกระดับอำนวยความสะดวกการเริ่มต้นธุรกิจ จัดระบบการจดทะเบียนนิติบุคคล และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้อยู่ในขั้นตอนเดียว  ทำให้ลดเวลา ค่าใช้จ่าย หวังดันอันดับของไทยใน Doing Business ด้านการเริ่มต้นธุรกิจสูงขึ้น

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า  จากรายงานผลการจัดอันดับ   ความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก หรือ Ease of Doing Business ปี 2020 ในส่วนของการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนานั้น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 47 จาก 190 ประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ 5 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลา 6 วัน ได้แก่ 1.การจองชื่อบริษัท 2 วัน 2. การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน 3. การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 1 วัน 4. การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 วัน และ 5.การขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้าง 1 วัน

         

นายวุฒิไกร กล่าวว่า  กรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจในประเทศให้ดียิ่งขึ้น จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมสรรพากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยรวมขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคลและการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในขั้นตอนเดียว  ทำให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะดำเนินการดังกล่าวสามารถกรอกข้อมูลที่ “แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” และนำมายื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยถือว่านิติบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป

นายวุฒิไกร กล่าววว่า นอกจากการบูรณาการขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในข้างต้นแล้ว ที่ผ่านมากรมฯ ยังได้อำนวยความสะดวกการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่พร้อมกับขึ้นทะเบียนประกันสังคมในคราวเดียวกันซึ่งเปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2562 โดยห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะถือว่าขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้การพัฒนาดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่ดีขึ้น     

“การพัฒนารูปแบบการให้บริการยังเป็นการยกระดับงานบริการของส่วนราชการแบบบูรณาการ ซึ่งจะส่งเสริมบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการเริ่มต้นธุรกิจไปในทางที่ดี ก่อให้เกิดแรงจูงใจ  แรงสนับสนุน และช่วยดึงดูดให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติมาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ส่งผลต่อการจัดอันดับ Ease of Doing Business ในปี 2021 ของไทยให้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนชาวต่างชาติ และการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ       ในภาพรวมให้ก้าวหน้ามั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าว