‘New Normal’ เศรษฐกิจหลังโควิด

‘New Normal’ เศรษฐกิจหลังโควิด

“วิกฤติโควิด” ไม่เพียงทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจและธุรกิจในเกือบทุกด้าน รวมถึงจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจะวางยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ไม่เพียงทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไป แต่กำลังจะเปลี่ยนภาพ “เศรษฐกิจ” และ “ธุรกิจ” ในเกือบทุกด้านบนโลกใบนี้ด้วย ...แน่นอนว่าหลังจากนี้เราคงเห็น “เศรษฐกิจดิจิทัล” มาเร็วกว่าที่นักธุรกิจคาดการณ์เอาไว้ บริษัทต่างๆ จะมุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลที่มากขึ้น โดยมี “โลกออนไลน์” เป็นสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือด “ผู้ชนะ” คือผู้ที่ปรับตัวและมองหา “จุดเด่น” ได้เร็วกว่าคนอื่นๆ

ผู้บริหารระดับสูงหลายคนยอมรับว่า “โควิด-19” ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และกำลังจะกลายเป็น “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ของโลกเศรษฐกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไป ทำให้ภาคธุรกิจต้องวิ่งตามเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าเอาไว้ให้มากที่สุด โดย “ธนาคารพาณิชย์” ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงมากสุด เพราะธุรกรรมต่างๆ ถูกโอนไปอยู่บน “โมบายแบงกิ้ง” เร็วมากขึ้น ไม่แน่ว่าโลกหลังโควิด “โทรศัพท์มือถือ” จะมีความสำคัญมากกว่า “กระเป๋าสตางค์”

ข้อมูลของธนาคารไทยพาณิชย์ที่บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดจากโรคโควิด โดย “ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ยอดผู้ใช้บริการผ่าน SCB EASY เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนคน ทำให้ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีฐานลูกค้าบน SCB EASY รวมกว่า 11 ล้านคน อีกทั้งปริมาณธุรกรรมบนดิจิทัลก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด “ดร.อารักษ์” จึงคาดว่า “วิกฤติโควิด” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น และยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้คนไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” อย่างแท้จริงด้วย

ส่วนในมุม “เศรษฐกิจมหภาค” นับเป็นอีกความท้าทายที่ยากยิ่ง เพราะ “นักเศรษฐศาสตร์” หลายคนประเมินว่า หลังวิกฤติโควิดโลกอาจเกิดการทวนกระแสของโลกาภิวัตน์ หรือ “deglobalization” ที่หนักมากขึ้น ประเทศต่างๆ จะเริ่มกีดกันทางการค้า ไม่ใช่เพราะต่อต้านการค้าเสรี แต่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง เพราะวิกฤติครั้งนี้นับเป็นวิกฤติที่หนักหน่วง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน ดังนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศจะเร่งผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศก่อน เพื่อฟื้นฟูความเสียหายให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้การเดินทางระหว่างประเทศจะยากมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศคงรณรงค์ให้ท่องเที่ยวภายในประเทศของตัวเองก่อน อีกทั้งความไม่มั่นใจที่มีต่อการแพร่ระบาดของ “โรคโควิด” จะมีอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้ “ประเทศไทย” จะเผชิญความท้าทายอันหนักหน่วง และเป็นโจทย์ยากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพา “ภาคต่างประเทศ” ไม่น้อยกว่า 50% ของจีดีพี ผ่านการส่งออกสุทธิและการท่องเที่ยว โจทย์ใหญ่สุดๆ ของรัฐบาลหลังวิกฤติโควิด จึงหนีไม่พ้นว่า จะวางยุทธศาสตร์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร เมื่อโลกยุคใหม่ต่างมุ่งแข่งบนแพลตฟอร์มดิจิทัลท่ามกลางกระแสกีดกันทางการค้าอันรุนแรง เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถูก “จี้จุดอ่อน-ปิดตายจุดแข็ง” นับเป็นการเดินหมากที่ยาก แต่ต้องเร่งแก้ไข