‘โควิด’ ปฎิวัติซัพพลายเชนโลก ผู้ผลิตจ่อย้ายฐานลดพึ่งพาจีน

‘โควิด’ ปฎิวัติซัพพลายเชนโลก  ผู้ผลิตจ่อย้ายฐานลดพึ่งพาจีน

ส.อ.ท.ชี้ “โควิด” สร้างจุดเปลี่ยนซัพพลายเชนโลก ลดพึ่งสินค้าจีน สหรัฐ-ยุโรปจ่อย้ายฐานไปประเทศอื่น หนุนไทยสู่อุตฯ 4.0 เร็วขึ้น กระตุ้นใช้หุ่นยนต์–ออโตเมชั่น จัดไลน์การผลิตใหม่ลดเสี่ยงระบาด สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ฯ เผยเอไอ-โรโบติก มาเร็วแน่

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อภาคการผลิตและซัพพลายเชนโลก ซึ่งก่อนหน้านี้สงครามการค้าทำให้หลายประเทศมองถึงการลดพึ่งจีน แต่โควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้ลดการพึ่งจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของซัพพลายโลก รวมถึงภาคการผลิตในไทยที่เริ่มทบทวนรูปแบบสายการผลิต เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการระบาดและความต่อเนื่องในการผลิตมากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หลังจบสถานการณ์โควิด-19 ระบบซัพพลายเชนโลกจะเปลี่ยนไป เพราะช่วงระบาดทำให้สินค้าหลายหลุ่มขาดแคลน เช่น อุปกรณ์การแพทย์เพราะจีนเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ วัสดุ และน้ำยาเคมีทางการแพทย์ถึง 80% ของทั้งโลก

รวมทั้งช่วงวิกฤติโควิด-19 จีนส่งออกไม่ได้เพราะต้องการใช้ในประเทศสูง และประเทศอื่นที่ผลิตได้เร่งผลิตเพื่อป้อนภายในประเทศเป็นหลักจนเกิดขาดแคลนทั้งโลก ดังนั้นหลังโควิด-19 แต่ละประเทศจะลงทุนอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นเพื่อความมั่นคง

ส่วนสินค้าอื่นเช่นเดียวกัน โดยสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) พึ่งฐานการผลิตในจีน ซึ่งช่วงที่จีนส่งออกไม่ได้กระทบทุกภาคประเทศเพราะไม่มีวัตถุดิบจากจีน ทำให้ต่อไปต้องกระจายฐานการผลิตไปประเทศอื่นมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีของไทยที่ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ทั้งนี้ การที่สหรัฐเจอภายใน 1 เดือนมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้นถึง 22 ล้านคน ทำให้มีแนวโน้มสูงที่สหรัฐจะดึงการลงทุนกลับประเทศ เพื่อสร้างงานภายใน รวมทั้งประเทศอื่นจะลงทุนผลิตสินค้าจำเป็นภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้นการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนโลกจะมีทั้งบวกและลบ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนของโลกมากที่สุด

“ซัพพลายเชนโลกที่เปลี่ยนจะกระทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโออีเอ็มที่ผลิตสินค้าให้แบรนด์เนมจะเสี่ยงขึ้น ไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกในอนาคต”

ส่วนอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วหลังโควิด-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุปกรณ์ไอโอที และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ 5จี เพราะช่วงระบาดประชาชนต้องกักตัวและต้องพึ่งไอที ประชุมและค้าออนไลน์ รวมทั้งการที่ไทยจะเดินหน้า 5จี ในปีนี้ จะช่วยเร่งทุกธุรกิจให้เดินหน้าเรื่องนี้

“ทุกบริษัทประชุมออนไลน์มากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ได้รับความนิยม ดังนั้นหลังโควิด-19 จะหันมาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตรวดเร็ว”

รวมถึงอุตสาหกรรมสุขภาพจะเติบโตสูง โดยหลังโควิด-19 คลี่คลายและธุรกิจเริ่มเปิดในกรอบการป้องกันระบาด ทำให้อุปกรณ์การแพทย์ต้องการสูง เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ ส่วนระยะยาวตลาดต้องการผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ สร้างภูมิต้านทาน เครื่องออกกำลังกาย

“เพื่อรับมือที่เกิดขึ้น ส.อ.ท.ตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 โดยประชุมร่วม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ทุกสัปดาห์ ลงลึกวิเคราะห์ข้อมูลการปรับตัวและข้อเสนอต่อรัฐบาล”

เปลี่ยนโมเดลภาคการผลิตไทย

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิตของไทยมาก โดยทุกกิจการจะเน้นความปลอดภัยสุขภาพพนักงานเป็นโจทย์สำคัญ ในการจัดระบบโรงงานเพื่อป้องกันการระบาดของโรคขณะนี้และยังต่อเนื่องอีกนาน รวมทั้งป้องกันภัยจากโรคระบาดอื่นในอนาคต

ทั้งนี้โรงงานปรับสายการผลิตลดการแออัดของคนงาน มีระยะห่างระหว่างคนงานไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ซึ่งปรับปรุงได้ 2 รูปแบบ คือ 1.นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อลดแรงงานให้มีระยะห่างตามกำหนด และเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุนการดำเนินงานระยะยาว

2.การขยายสายการผลิตให้ยาวขึ้น เพื่อเพิ่มระยะห่างของแรงงานในสายการผลิต ซึ่งแม้ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นแต่หากอนาคตไม่มีการระบาดของโรคติดต่อก็นำแรงงานเข้ามาเพิ่มสายการผลิต ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้เท่าตัวโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่มองว่าการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานจะตอบโจทย์การผลิตดีกว่าและยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0

“ภาคอุตสาหกรรมจะปรับเวลาพักเทียงที่อาจมีหลายรอบ ลดความแออัดห้องอาหาร ตลอดจนการขนส่งคนงานมาทำงานและกลับที่พัก ที่ต้องมีระยะห่างในรถโดยสาร มาตรการสุขอนามัยเข้มข้น ดังนั้นหลังวิกฤติโควิดทุกอย่างจะเปลี่ยน ระบบการผลิตเปลี่ยน ซัพพลายเชนเปลี่ยน”

ทั้งนี้ โควิด-19 จะอยู่อีกเป็นปีจนกว่าจะหาวัคซีนได้ เพราะแม้ไทยจะควบคุมได้ดีแต่ประเทศอื่นยังระบาด และหลายประเทศกลับมาระบาดใหม่หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ทั่วโลกลดพึ่งพาซัพพลายเชนจีน

นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและธุรกิจคลังสินค้า ได้จับตาวิกฤติโควิด-19 พบว่า หลังจากการระบาดยุติจะเกิด New Normal ทางเศรษฐกิจ โดยภาคการลงทุน การผลิตและซัพพลายเชนโลกจะเปลี่ยนไป 

การปรับเปลี่ยนนี้เริ่มตั้งแต่สงครามการค้าที่ฐานการผลิตโลกกระจุกที่จีนเกือบหมด เมื่อจีนถูกกำแพงการค้าจึงกระทบผู้ซื้อทั่วโลก ทำให้เกิดการขยายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ลดการพึ่งพาสินค้าที่ผลิตจากจีนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบรุนแรง สินค้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากจีนส่งออกลดลงกระทบภาคการผลิตโลก

ดังนั้นหลังวิกฤติโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกตระหนักว่าไม่สามารถให้การผลิตทั้งหมดกระจุกที่จีนได้ ต้องขยายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ส่วนนี้เพราะเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของภูมิภาค

โควิด-19 ปลุก ‘เอไอ’มาแรง

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ECEA) กล่าวว่า โควิด-19 จะเร่งให้หลายอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการนำเอไอที่หลายบริษัทเริ่มใช้จริงจังจากเดิมเคยมองภายใน 3-5 ปีนี้เป็นเรื่องอยู่ในกระดาษมากกว่าการเปลี่ยนเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย มีส่วนผสมระหว่างการบริหารจัดการแบบออโตเมชั่นและโรโบติก ซึ่งไม่ใช่หุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานอย่างเดียวแต่จะเกิดการลงทุนระบบที่ทันสมัย เช่น บิ๊กดาต้า อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) โดยภาคอิเล็กทรอนิกส์พยายามรีสกิล-อัพสกิลแรงงานทำให้ปัจจุบันแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์มีทักษะด้านการผลิตดีมาก

นางสาว ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาคการผลิตใช้เอไอและไอโอทีมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเร็วให้การผลิต รวมถึงกระบวนการตรวจสอบข้อบกพร่อง (Defect) ที่ก่อนหน้านี้ใช้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ แต่ได้นำเอไอมาวิเคราะห์ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อหาจุดบกพร่องของชิ้นส่วนต่างๆ

ทั้งนี้หัวใจสำคัญที่ช่วยภาคการผลิต คือ เอไอ วิชั่น ที่ควบคู่การเทรนด้วยแมชชีนเลิร์นนิง การนำภาพละเอียดสูงจากฝ่ายผลิตมาเทียบกับคลังภาพที่แสดงจุดบกพร่องของชิ้นส่วนนั้นๆ นำมาพัฒนาโมเดลกระบวนการรับรู้ (Cognitive) เพื่อหาข้อบกพร่องแต่ละขั้นตอนร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ประมวลผลแบบเอดจ์ (Edge) ที่เชื่อมกับกล้องในโรงงานทำให้ตรวจสอบข้อผิดพลาดได้แม่นยำ