'รัฐบาลขอทาน'? ส่องเบื้องหน้าเบื้องหลัง 'มหาเศรษฐีไทย' และ 'ประยุทธ์'

'รัฐบาลขอทาน'? ส่องเบื้องหน้าเบื้องหลัง 'มหาเศรษฐีไทย' และ 'ประยุทธ์'

การส่งสัญญาณถึง "มหาเศรษฐีไทย" ของนายกรัฐมนตรี "พล.อ.ประยุทธ์" จนเกิดกระแสโจมตี "รัฐบาลขอทาน" หากไม่ใช่ขอบริจาคแต่ขอให้ช่วยอะไรในวิกฤติโควิค

การแก้ปัญหาหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ด้วยการสั่งปิดสถานที่และสถานบริการ และล็อกดาวน์ของจังหวัดต่างๆ ทำให้กระทบแรงงานและคนในภาคธุรกิจที่ต้องตกงานและว่างงาน ที่ไม่มีรายได้ในการยังชีพ ซึ่งหากไม่ได้ความร่วมมือและการดูแลของเจ้าของธุรกิจ ย่อมยากที่จะรอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะบรรดามหาเศรษฐีไทย เจ้าของกลุ่มธุรกิจใหญ่ระดับโลก

คงทราบกันแล้วว่า อันดับมหาเศรษฐีไทย ปี 2563 จากการจัดอันดับของ "ฟอร์บส ไทยแลนด์" ดังนี้

อันดับ 1 ธนินท์ เจียรวนนท์ และพี่น้อง "ตระกูลเจียรวนนท์" แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี สินทรัพย์ 2.73  หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (9 แสนล้านบาท)

อันดับ 2 เฉลิม อยู่วิทยา แห่งเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก อย่าง Red Bull สินทรัพย์  2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (6.66 แสนล้านบาท)

อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งเครือไทยเบฟเวอเรจ สินทรัพย์ 1.05  หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.46 แสนล้านบาท)

อันดับ 4 ทศ จิราธิวัฒน์ และพี่น้องตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัล สินทรัพย์ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.13 แสนล้านบาท)

อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของบริษัทพลังงาน "กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์" สินทรัพย์ 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.24 แสนล้านบาท )

อันดับ 6 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา แห่งกลุ่มคิงเพาเวอร์ สินทรัพย์ 3.8   พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.25 แสนล้านบาท)

อันดับ 7 ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ แห่ง ทีโอเอ สินทรัพย์ 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.02 แสนล้านบาท)

อันดับ 8 ตระกูลโอสถสภา ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศ สินทรัพย์ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  (9.9 หมื่นล้านบาท )

อันดับ 9 วานิช ไชยวรรณ แห่งไทยประกันชีวิต สินทรัพย์ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (9.24 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 10 ชูชาติ-ดาวนภา เพชรอำไพ เจ้าของธุรกิจสินเชื่อจักรยานยนต์ เมืองไทยลีสซิ่ง สินทรัพย์ 2.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (8.74 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 11 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ ธุรกิจโรงพยาบาล 2.6 พันล้านเหรียญ (8.49 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 12  ฮาราลด์ ลิงค์ กลุ่มบี. กริม 2.3 พันล้านเหรียญ (7.51 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 13 กฤตย์ รัตนรักษ์ เจ้าของช่อง 7 และอื่นๆ 2.25 พันล้านเหรียญ (7.35 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 14 คีรี กาญจนพาสน์ กลุ่มบีทีเอส 1.9 พันล้านเหรียญ (6.20 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 15 สันติ ภิรมย์ภักดี กลุ่มสิงห์ 1.86 พันล้านเหรียญ (6.07 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 16 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 1.85 พันล้านเหรียญ (6.04 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 17 วิชัย ทองแตง หุ้นและธุรกิจรพ. 1.8 พันล้านเหรียญ (5.88 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 18 สมโภชน์ อาหุนัย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์  1.75 พันล้านเหรียญ (5.72 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 19 ฤทธิ์ ธีระโกเมน แห่งเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป 1.65 พันล้านเหรียญ (5.39 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 20 ศุภลักษณ์ อัมพุช แห่งเดอะมอลล์ กรุ๊ป  1.6 พันล้านเหรียญ (5.23 หมื่นล้านบาท)

ทว่า หากไม่นับอดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่อยู่อันดับ 16 แล้ว จะมีชื่อมหาเศรษฐีไทย ที่คาดว่านายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากเทียบเชิญให้มาทำเนียบรัฐบาล เพื่อปรึกษาหารือ ดังนี้

1. ธนินท์ เจียรวนนท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 

2. ตัวแทนเครือสหพัฒน์ 

3. ศุภชัย อัมพุช เครือเดอะมอลล์

4. ทศ จิราธิวัฒน์ เครือเซ็นทรัล  

5. เจริญ สิริวัฒนภักดี เครือไทยเบฟเวอเรจ 

6. อนันต์ อัศวโภคิน เครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์

7. คีรี กาญจนพาสน์ เครือบีทีเอส 

8. ปลิว ตรีวิศวเวทย์ เครือ ช.การช่าง

9.กลุ่มค่ายมือถือ

10.กลุ่มรถยนต์

10.สมาคมธนาคารไทย

11.กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง

12. ประยุทธ มหากิจศิริ จากเนสกาแฟ 

13. สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

14. ผู้บริหาร เบทาโกร กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ และเกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร

15. สารัชถ์ รัตนาวะดี ด้านพลังงานไฟฟ้า 

16. กลุ่มปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่

17. สันติ ภิรมย์ภักดี แห่งบุญรอดบริวเวอรี่

 18. ไมเนอร์กรุ๊ป ด้านธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ อาหาร 

19. สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

20. กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย

 21. ชาติศิริ โสภณพนิช ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ

22. นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ฯลฯ

พลันที่เปิดรายชื่อกลุ่มธุรกิจที่นายกฯอยากปรึกษาหานั้น กลายเป็นประเด็นถูกโจมตีว่า "รัฐบาลขอทาน" พร้อมกังวลว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์กันภายหลังหรือไม่อย่างไร (ประมวลความเห็นของบุคคลสำคัญ กรณีแฮชแท็กร้อน #รัฐบาลขอทาน)

รวมถึงการขอความช่วยเหลือเศรษฐี 20 อันดับแรกของไทย ต้องระวังใช้เป็นสะพานเชื่อมสู่ "การกุมรัฐ" หรือควบคุมรัฐ เพื่อหาประโยชน์เข้าให้ตัวเอง ไม่แนะนำเปิดรับบริจาคเพราะเงินนำไปใช้ยากและรั่วไหลสูง (แนะรัฐบาลปรึกษา "เศรษฐี" ระวังการกุมรัฐ )

ประเด็นดังกล่าว ทำให้รัฐบาลออกมาชี้แจง ดังที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไม่ได้ทำหนังสือไปขอเงิน ขอให้ดูข้อความในจดหมายว่าเราเขียนไปขออะไร แต่ยืนยันไม่ได้ไปขอเงิน อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าทุกอย่างจะชัดเจน เพราะนายกฯจะเป็นผู้ดูในรายละเอียดเองทั้งหมด (รายละเอียด

นอกจาก "รองฯวิษณุ" ชี้แจงแล้ว ยังมี แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่าความตั้งใจของนายกฯ เพื่อระดมสมองจากคนที่มีประสบการณ์ เพราะถึงเวลาสำคัญที่ต้องร่วมมือกันอีกครั้ง โดยนายกฯ อยากได้ยินความเห็นด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดคุยกับบางส่วนมาบ้างแล้ว ขณะที่รายชื่อมหาเศรษฐีนั้น คงไม่ได้เจาะจงเฉพาะ 20 มหาเศรษฐีที่ถูกจัดอันดับว่ารวยที่สุดของประเทศเท่านั้น จะกระจายไปยังผู้นำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ที่ยังดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บางคนก็ไม่ได้มีชื่อติดใน 20 อันดับแรก แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม ธนาคาร ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การส่งออกเป็นต้น คาดว่าสัปดาห์หน้านายกฯ จะได้ทยอยเชิญเข้ามาพูดคุยกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการพูดคุยระหว่าง "นายกฯประยุทธ์" กับ "กลุ่มมหาเศรษฐี" นั้น ก่อนหน้านี้ กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เคยบอกไว้ว่า การบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน โดยวางแนวทาง 2 มติ คือ 1.กำหนดพื้นที่ที่จะเปิด 2.ธุรกิจหรือกิจการที่เปิด

การกำหนดพื้นที่เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่สีเขียว เป็นจังหวัดที่ไม่แพร่ระบาดและไม่มีผู้ติดเชื้อ 2.พื้นที่สีเหลือง เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก 3.พื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

พื้นที่ใดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อาจจะไม่พิจารณาให้เปิดธุรกิจ เพราะมีความเสี่ยงสูงในการระบาดเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ระบาดน้อยจะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และพิจารณาว่าจะเปิดธุรกิจประเภทใดได้บ้าง ทั้งนี้การกำหนดพื้นที่ดังกล่าวจะยึดข้อมูลจากศูนย์ ศบค.เป็นหลัก

ธุรกิจหรือกิจการที่เสนอเปิดได้นั้น คณะทำงานได้วางหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า ต้องบริหารจัดการควบคุมการระบาดได้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารพื้นที่เพื่อสร้างระยะห่างได้ โดยกรณีศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าต้องควบคุมจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการได้ มีอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย 

ส่วนร้านอาหารบางประเภทที่จะเปิดได้ต้องจัดโต๊ะและเก้าอี้ให้มีระยะห่าง ควบคุมจำนวนคนที่จะเข้าไปทานอาหารในร้าน กำหนดเวลารับประทานอาหาร รวมทั้งผู้ปรุงอาหารและบริกรต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน ในขณะที่ธุรกิจที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากและหนาแน่นคงต้องปิดไปก่อนเพื่อป้องกันการระบาด เช่น สนามมวย สนามกีฬา

"ธุรกิจที่จะเปิดต้องมีความเสี่ยงต่ำในการทำให้ติดเชื้อและมีมาตรการควบคุมได้เป็นสำคัญ ธุรกิจใดที่เสี่ยงขอให้ชะลอเปิดไปก่อน โดยจะเสนอคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นปนะธาน (สศช.) ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ม.ย.นี้"

กล่าวคือ จากมุมของ "ประธานฯกลินท์" ย่อมเห็นว่า ระหว่าง "พล.อ.ประยุทธ์" และทีมเศรษฐกิจ มีการสื่อสารต่อกันอยู่แล้วกับ "กลุ่มมหาเศรษฐี" เพื่อประมวลความคิดเห็นภาครัฐและเอกชน ถึงความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและสังคม

เมื่อ "เบื้องหลัง" ตกผลึก จึงอยากเปิด "เบื้องหน้า" ให้เห็นภาพ การร่วมไม้ร่วมมือแก้วิกฤติเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน แต่อาจจะถูกโจมตีแรงว่า "รัฐบาลขอทาน" หรือกระแสความกังวลหวั่นเกิด "การกุมรัฐ" ก็ตาม แต่ความเป็นจริง มิอาจใช้วิธี "ต่างคนต่างทำ" ในยามวิกฤติผู้คนดำรงชีพลำบาก

เพียงแต่ต้องหาจุดพอดีพองาม..ในความร่วมมือกัน ย่อมแก้ข้อครหา และชนะไปด้วยกันทั้งชาติ!!

...

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650014