เผย 'สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า' ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มอายุ 20-39 ปี

เผย 'สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า' ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มอายุ 20-39 ปี

ศบค. เผยผลวิเคราะห์ระบาดวิทยากลุ่มผู้ป่วยโควิดอายุ 20-39 ปี ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด พบปัจจัยเสี่ยงหลักคือ "สัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า" ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว เปรย 1 พ.ค.นี้ จะได้ทราบว่ารัฐบาลจะยุติสถานการณ์ฉุกเฉินหรือขยายออกไปอีก

วันนี้ (19 เม.ย.) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ได้มีการวิเคราะห์ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอายุตั้งแต่ 20-39 ปี ตั้งแต่มกราคม - 18 เมษายน 2563 ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 1,334 ราย คิดเป็น 49% ของผู้ป่วยทั้งหมด เสียชีวิต 3 ราย อัตราส่วนชาย:หญิง เท่ากับ 1:1.25 สัญชาติไทย 89% และต่างชาติ 11% อาชีพเสี่ยง 19% (เช่น สถานบันเทิง โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด ขับรถโดยสาร) รับจ้างทั่วไป 18% และพนักงานบริษัท/โรงงาน 14%

โดยปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่พบในช่วงมกราคม-14 มีนาคม 2563 เกิดจาก เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ 36% เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 20% อาชีพเสี่ยงและสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า อย่างละ 16% ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่พบในช่วง 15 มีนาคม - 18 เมษายน 2563 นั้น คือการสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 36% มาจากครอบครัว 50% สถานที่ทำงาน 26% และเพื่อน 23%, เดินทางมาจากประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย 14% และเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 11%

ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (4-18 เมษายน 2563) พบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 20-39 ปี จำนวน 351 ราย คิดเป็น 53% เสียชีวิต 3 ราย อัตราส่วนชาย:หญิง เท่ากับ 1:1.25 สัญชาติไทย 89% ต่างชาติ 11% ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย 3 อันดับแรกได้แก่ 1. สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 42% แบ่งเป็นมาจากครอบครัว 50% ที่ทำงาน 31% และเพื่อน 29% 2.คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 17%อาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานโรงแรม/พนักงานเสิร์ฟ/พนักงานสถานบันเทิง 14% และอาชีพของผู้ป่วยในจังหวัดที่พบ ถ้าเป็น กทม.จะเป็นกลุ่ม HCW ข้าราชการ พนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ นักเรียน นักศึกษา ส่วนภูเก็ต จะเป็นพนักงานบริการ ขณะที่ นนทบุรี/สมุทรปราการ/ชลบุรี จะเป็นกลุ่มพนักงานบริษัท/เอกชน

มั่นใจบุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย

โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่าขณะนี้ขอให้ทุกคนมั่นใจในระบบสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการดูแลอย่างดี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดส่งหน้ากาก N95 ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ 119,110 ชิ้น และ ชุด PPE SET 8,640 ชุด และอยู่ระหว่างการจัดส่งชุดPPE SET10,650 ชุด

ส่วนมาตรการหน้ากากอนามัย มีสถานะจัดส่ง หน้ากากอนามัย ของกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 19 เมษายน จำนวนรับเข้ารวม 37,497,550 ชิ้น และจัดส่งสะสม 23,205,750 ชิ้น ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย จัดส่งสะสม 14,291,300 ส่วนมาตรการ ในการดูแลคนไทยที่มาจากต่างประเทศ (ณ วันที่ 19 เมษายน) จะมีคนไทยเดินทางกลับมาไทย จากประเทศเนเธอร์แลนด์ 27 คน และเที่ยวบินจากบาห์เรน 74คน และจากสหรัฐอเมริกา 162 คน

ส่วนกรณีคนไทยที่จะกลับมาจากประเทศมาเลเซียนั้น ทางศบค.ได้มีการหารือในเรื่องนี้ พบว่า การลงทะเบียนพี่น้องคนไทยในประเทศมาเลเซีย วันหนึ่งรับได้ 350 คน ต่อด่านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่วันที่ 18-30 เมษายน จำนวน 2,548 คน วันที่ 18-25 เมษายน มีการกระจุกลงทะเบียนในช่วงนี้ แต่หลังจากวันเหล่านั้น มีคนลงเพียงไม่กี่คน ดังนั้น อยากให้กระจายออกไปวันหลังๆ เช่นเดียวกันตัวเลขรายชื่อจังหวัดจากชายแดนทั่วประเทศที่ต้องการเข้ามาประเทศไทย นอกเหนือจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแจ้งมาประมาณ 3,211 คน นั้น ขอให้กระจายวันเข้าประเทศ

"มีพี่น้องคนไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย ประมาณ 7,000 กว่าคน ตอนนี้ยังพักอาศัยอยู่ในตามรัฐต่างๆ ซึ่งสถานทูตมีอาสาสมัคร เอาถุงยังชีพ สิ่งของจำเป็นต่างๆ ที่มีอยู่ นำไปให้ คือ ทางมาเลเซีย เขาปิดประเทศ และร้านต่างๆ ที่เคยไปรับจ้างหยุดหมดเลย ทำให้ไม่มีรายได้และอยากกลับมาไทย แต่หลายคนก็ยังอยู่ในที่ตั้งได้ ต้องขอบคุณสถานทูตกัวลาลัมเปอร์ และปีนังในการดูแลเรื่องนี้" นายแพทย์ทวีศิลป์เผย

1 พ.ค. ชี้ขาดประกาศยุติหรือขยายเคอร์ฟิว

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่ามาตรการเคอร์ฟิวที่ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ พบว่า มีการฝ่าฝืนคำสั่งออกนอกเคหสถานลดลงจากเดิม โดยมีผู้ถูกดำเนินคดี 545 ราย ตักเตือน 109 ราย และยังคงเป็นเหตุผลเช่นเดิม คือ เดินทางกลับที่พัก ออกมาทำธุระ ขับขี่ยานพาหนะล้ม ขณะที่เหตุของการชุมนุม มั่วสุด ถูกดำเนินคดี 68 ราย มาจากเล่นการพนัก ดื่มสุรา และยาเสพติด นอกจากนั้น เมื่อแบ่งการกระทำผิดแยกตามพื้นที่ (ณ วันที่ 19 เม.ย.) พบว่า ภาคเหนือ ออกนอกเคหสถาน 54 ราย อันดับ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ออกนอกเคหสถาน 13 ราย ภาคใต้ ออกนอกเคหสถาน 94 ราย อันดับ 1 จ.ภูเก็ต ออกนอกเคหสถาน 17 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกนอกเคหสถาน 94 ราย รวมกลุ่มมั่วสุม 11 ราย อันดับ 1 จังหวัดนครราชสีมา ออกนอกเคหสถาน 29 ราย มั่วสุม 7 ราย และภาคกลาง ออกนอกเคหสถาน 246 ราย รวมกลุ่มมั่วสุม 37 ราย อันดับ 1 จ.ชลบุรี ออกนอกเคหสถาน 37 ราย มั่วสุม 2 ราย ส่วนกทม. ออกนอกเคหสถาน 77 ราย รวมกลุ่มมั่วสุม 6 ราย

“1 พฤษภาคมนี้ จะมีการประกาศมาตรการว่าจะยุติ หรือบวกเพิ่มต่อ ยังตอบไม่ได้ ซึ่งเป็นมติที่ต้องใช้การประชุมศบค.ชุดใหญ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการใช้ชุดข้อมูลต่างๆ เป็นตัวกำหนด ดังนั้น การเตรียมการที่จะเปิดหรือปิดสถานประกอบการนั้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของธุรกิจต่างๆ แต่การจะทำให้เกิดความมั่นใจว่าลดหย่อนมาตรการ หรือยุติได้ ต้องทำงานร่วมกันของคนทั้งประเทศมากกว่า 90% ถึงจะกดการติดเชื้อของคนได้ ต้องต่ำลงไปกว่า 10 ให้ได้ การตรึงหรือการหย่อน เป็นเรื่องสถานการณ์ค่อนข้างละเอียดอ่อน” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว