'การบริหารชุมชน' ท่ามกลางโควิด-19

'การบริหารชุมชน' ท่ามกลางโควิด-19

ในสถานการณ์โควิด-19 การบริหารจัดการตนเองให้อยู่ห่างจากโควิด-19 คงไม่ยากเกินไป แต่การ "บริหารจัดการชุมชน" เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งมีผู้พักอาศัยจำนวนมาก จะมีวิธีการอย่างไรที่เหมาะสมที่สุด

ทุกวันนี้เชื่อว่าเมื่อตื่นขึ้น เรื่องแรกที่หลายๆ คนคิดถึงก็คือสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างไรบ้างแล้ว โรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 แต่ดูเหมือนยาวนานจนเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าพักอาศัยคนเดียวหรือมีสมาชิกไม่กี่คน การบริหารจัดการตนเองให้อยู่ห่างจากโควิด-19 คงไม่ยากเกินไป แต่ "การบริหารจัดการชุมชน" เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งมีผู้พักอาศัยจำนวนมากจะมีวิธีการอย่างไรที่เหมาะสมที่สุด

  • ศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด

ด้วยความที่เป็นโรคอุบัติใหม่ การศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุดถือเป็นสิ่งจำเป็น ในช่วงที่เมืองอู่ฮั่นเริ่มระบาด ขณะนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ด้วยความที่สังคมโลกได้พัฒนาจนเป็นหนึ่งเดียวในปัจจุบัน (Globalization) มีการเดินทางเชื่อมต่อที่สะดวก ไม่นานนักก็กลายเป็นปัญหาของทั่วโลกที่ต้องรีบทำความเข้าใจ หาวิธีป้องกันและรักษา

ที่ผ่านมาการระดมองค์ความรู้มีอยู่มากมายผ่านสื่อต่างๆ เช่น Social Media การจัดอบรม แต่สถานการณ์ไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด การประสานงานเพื่อขอความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ซึ่งบริษัทได้รับความช่วยเหลือจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี เพื่อร่วมหา แนวทางในการบริหารจัดการชุมชนที่ถูกต้อง รวดเร็ว

ทั้งยังสกัดข้อมูลสำคัญเพื่อให้ความรู้กับด่านหน้า คือ เจ้าหน้าที่นิติบุคคล อาคารชุด แม่บ้าน และ รปภ. ให้เข้าใจถ่องแท้ เพื่อการบริหารจัดการผู้พักอาศัย 150,000 ห้องชุด กว่า 200,000 คน อย่างถูกต้องและเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อ เพราะจะทำให้กำลังคนทำงานหายไปและการบริหารจัดการนิติบุคคลนั้นจะสะดุดลง

  • รับมือด้วยสติ

สิ่งสำคัญลำดับถัดไป คือ เราจะรับมือและวางแผนกับเรื่องนี้อย่างไรให้รัดกุม รอบคอบที่สุด การศึกษาลักษณะของการแพร่ระบาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องคิดรอบคอบในทุกมิติแบบ 360 องศา โดยมองทะลุไปในทุกพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกบ้าน ที่จะมีผลต่อการวางแผนในการป้องกัน การเฝ้าระวัง การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับผู้พักอาศัย การดูแลผู้พักอาศัยในยามฉุกเฉิน การจัดสรรกำลังคนให้รองรับสถานการณ์ได้ และมีแผนในหลายระดับ (Scenario)

โดยวางแผนล่วงหน้าทั้งใน 1.สถานการณ์ที่ปกติ 2.เริ่มมีการติดเชื้อในชุมชน และที่หนักที่สุดคือ 3.มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นจำนวนมาก การสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมติดอาวุธให้แก่พนักงานที่อยู่ด่านหน้าเพื่อรับมือ เช่น หน้ากากอนามัย เจล Face Shield ถุงมือ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ

  • ปรับเปลี่ยนแผนได้ในทุกสถานการณ์

เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่มีตัวแปรเกี่ยวข้องมากมาย ถึงแม้จะคิดว่าการวางแผนนั้นดีที่สุดแล้ว ก็มักมีเรื่องให้ surprise ได้ตลอด การสังเกตการณ์ การประเมิน เพื่อปรับเปลี่ยนแผนให้ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เมื่อพบว่ามีคำเตือนจากแพทย์เรื่องการใช้สเปรย์ฆ่าเชื้อนั้น อาจมีผลกระทบกับสุขภาพ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการทำความสะอาดโดยแม่บ้านที่ถี่มากขึ้น เพื่อความสบายใจของผู้อยู่อาศัย

  • สร้างความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ

การสื่อสารนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยการให้ความรู้แก่ผู้พักอาศัย และทำความเข้าใจให้ตรงกันในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจุดนี้ขอย้ำถึง 3 ส่วนหลักที่สำคัญคือ ผู้พักอาศัย คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดฯ และฝ่ายจัดการ ที่ต้องมีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ซึ่งบุคคลที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้คือ คณะกรรมการนิติบุคคลฯ ที่ถือเป็นตัวแทนเจ้าของร่วมในการอนุมัติและตรวจสอบการบริหารจัดการชุมชน ที่จะช่วยสะท้อนการปฏิบัติงานพร้อมคำแนะนำมายังฝ่ายจัดการ เพื่อการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละชุมชนที่มีลักษณะทางกายภาพและประชากรที่ต่างกัน

  • ทุกคนคือทีมเดียวกัน

การจะฝ่าฟันวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในครั้งนี้ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน มีผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาวิเคราะห์ภายใต้หลากหลายทฤษฎี ซึ่งแต่ละประเทศก็มีตัวแปรที่ต่างกัน เช่น ภูมิอากาศ ขนบธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศ ลักษณะและความรุนแรงของเชื้อไวรัสที่อาจกลายพันธุ์ ดังนั้น การป้องกันตนเองภายใต้องค์ความรู้ที่ชัดเจน เช่น การสร้างระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งภายในครอบครัว และภายในชุมชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ทุกคนจึงถือเป็นทีมเดียวกัน” ทั้งฝ่ายบริหารจัดการ รวมถึงบริษัทพันธมิตร คณะกรรมการนิติฯ และเจ้าของร่วมทุกท่าน ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจกัน จึงจะช่วยพยุงสถานการณ์นี้ให้ลด ความรุนแรงลง เพื่อความมั่นใจในการอยู่อาศัยร่วมกัน ช่วยกัน ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ของเรา และผู้ปฏิบัติงานในทุกส่วน ที่ทุกคนก็ต่างมีครอบครัวที่รักห่วงใยอยู่

ความร่วมมือ ร่วมใจกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นเกราะป้องกันเจ้าไวรัสโควิด-19 นี้ได้ เพราะโควิด-19 นี้ กลัวความรัก ความห่วงใย ณ ขณะนี้คงบอกได้ว่าไม่มีอะไรผิด อะไรถูก แต่ในที่สุดเราจะเรียนรู้และผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปพร้อมกันค่ะ