‘เอนเนอร์จี รีฟอร์ม’ชูโซลาร์รูฟ พลิกโควิดเป็นโอกาสลดค่าไฟ

‘เอนเนอร์จี รีฟอร์ม’ชูโซลาร์รูฟ   พลิกโควิดเป็นโอกาสลดค่าไฟ

“เอนเนอร์จี รีฟอร์ม” พลิกวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาส ด้วยการนำเสนอโซลาร์รูฟ ท็อป มาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า เพื่อรับกระแสธุรกิจ วิถีชีวิตคนที่เริ่มเข้าสู่โหมดรัดเข็มขัด พร้อมต่อยอดสู่ธุรกิจดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อปูทางสู่ฮับยานยนต์ไฟฟ้า

13 ที่ผ่านมา เอนเนอร์จี รีฟอร์ม (Energy Reform) ถือเป็นธุรกิจปฏิวัติพลังงานที่เริ่มต้นจากเทคโนโลยีแก๊สติดรถยนต์ที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งเริ่มต้นจากฝาแฝด“หนึ่ง-สุรศักดิ์ นิตติวัฒน์” และ “หนุ่ม-สุรชัย นิตติวัฒน์” มองเห็น‘โอกาส’ในช่วงที่ราคาน้ำมันไต่ขึ้นถึง40บาทต่อลิตร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ใช้รถยนต์ โดยมีการทำการวิจัยและพัฒนากับรถยนต์ที่ใช้ในประเทศไทยทั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และจนได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้งาน ทำให้มีขอดขายเป็นอันดับหนึ่งในตลาดติดแก๊สรถยนต์

แต่ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน เมื่อราคาน้ำมัน เริ่มร่วงลงมาจาก140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมาเหลืออยู่แค่ 50ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ธุรกิจติดตั้งแก๊สรถยนต์ “สะดุด” ช่วงปี2558 ส่งผลให้กลุ่มลูกค้ารายย่อย เช่น ประชาชนทั่วๆไป พนักงานบริษัท เซลล์แมน ‘ลดลง’ เมื่อเทียบกับปี2550 สัดส่วนของลูกค้ารายย่อย70% กลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนส่งสินค้า 30% ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าเชิงพาณิชย์ 85% ส่วนลูกค้ารายย่อย 15% เรียกว่า สัดส่วนพลิกแบบกลับหัวกลับหาง

สุรชัย นิตติวัฒน์ บอกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ที่จะสร้างความ“ยั่งยืน” หลังจากศึกษา ค้นหาหาข้อมูลมาจึงตัดสินใจที่เข้ามาทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ เหตุผล แรก เป็น‘ของฟรี’ เพราะทันทีที่แสงอาทิตย์มาตกกระทบแผงโซลาร์ เซลล์จะได้พลังงานสะอาด จึงเป็นเสน่ห์ของธุรกิจนี้ แค่ซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งก็สามารถมีพลังงานมาใช้แล้ว ผนวกกับว่ารัฐมีนโยบายส่งเสริมเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้ถ่านหิน ซึ่งอาจไม่พอใช้ในอนาคต จึงหันมาส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์ สามารถนำไฟฟ้าที่ได้มาใช้เองหรือขายให้กับการไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม แม้จะดูว่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน แต่ดีมานด์ขึ้นลงไปมาตามนโยบาลรัฐบาล จากช่วงแรกที่ภาคประชาชน‘ตื่นตัว’ที่ติดโซลาร์รูฟท็อปแต่เมื่อนโยบายเงียบไปดีมานด์ก็ลดลง ขณะที่ภาคเอกชนกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการลดค่าใช้จ่ายด้ายไฟฟ้าลง ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคขาลง แน่นอนว่า การลงทุนทุกอย่างถูกพักหรือชะลอไว้ก่อน เพราะ’ไม่มี’ใครกล้าเสี่ยงลงทุนแน่นอน

สุรชัย ระบุุว่า แนวทางในการรับมือช่วงเศรษฐกิจขาลง ที่จะทำกับภาคธุรกิจคือ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนให้กับภาคธุรกิจ อาทิ โรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เพื่อสอดรับกับนโยบายรัดเข็มขัดของผู้ประกอบการในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ด้วยการไปตั้งโซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาให้กับภาคธุรกิจแล้วซื้อไฟฟ้าจากเรา ซึ่งได้รับความนิยมพอสมควร เพราะช่วงนี้การจะเพิ่มยอดขายเป็นเรื่องยากมากแค่ประคองไม่ให้ต่ำกว่าเป้าก็ดีที่สุดแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือการลดรายจ่ายแบบที่ไม่ต้องลงทุนเอง หรือจะลงทุนติดตั้งเองก็ได้รับลดหย่อนจากบีโอไอ 50% โดยบริษัททำหน้าที่เทิร์นคีย์ให้

ส่วนในภาคประชาชนที่เข้าสู่โหมดทำงานจากที่บ้านเพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด-19 นั่นหมายความว่า ทุกคนต้องใช้ไฟมากขึ้น เพราะต้องเปิดแอร์ เปิดพัดลม ฯลฯ ฉะนั้นหากติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป จะเป็น’ตัวช่วย’ลดค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี

“ขณะนี้ธุรกิจพลังทดแทนกำลังเข้ามาทดแทนการใช้พลังงานในรูปแบบเดิม ซึ่งธุรกิจโซลาร์จะเป็นทิศทางของบริษัทในระยะกลางและระยะยาว เพราะแนวโน้มอุปกรณ์การติดตั้งราคาถูกลง ทำให้โอกาสเข้าถึงเพิ่มขึ้น”

สำหรับแผนการทำธุรกิจระยะกลางของเอนเนอร์จี รีฟอร์ม คือการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle)ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลงรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมันให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี100%ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สุรชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่กดปุ่มสตาร์ทในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากต้นทุนการดัดแปลงรถเก่าที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท ถือว่าสูงเกินไปจึงยังไม่เหมาะที่จะลงทุน แม้ว่าเทคโนโลยีจะมาแล้ว จึงกลายเป็นแผนของบริษัทในระยะกลางและยาว เพราะต้องรอให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงก่อน เพราะเป็นต้นทุนหลักของชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงถึง 70%

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันลิเธียมไอออนแบตเตอรี่ราคาอยู่ที่ 200-ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงจากที่10ปีที่แล้วราคาอยู่ที่1,000ดอลลาร์ คาดว่า จะใช้ระยะเวลาขั้นต่ำ5 ปี ราคาอาจจะลดลงเหลือ50ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนลดลงและจูงใจให้คนสนใจที่เข้ามาดัดแปลงรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมันให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี

โครงการดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโมเดล และแม่แบบสำหรับประเทศเพื่อนบ้านในการดัดแปลงรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมันให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพราะหากเมื่อไรที่ราคาแบตเตอรี่ลดลง โอกาสที่จะได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมเทคโนโลยีให้พร้อมกับตลาดในอนาคต เพื่อรองรับการเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศและลดมลภาวะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่กระแสรถไฟฟ้ากำลังมาและผู้คนเริ่มตื่นตัว

นอกจากนี้เมื่อถึงเวลานั้นถึงจุดเปลี่ยนเมื่อระบบกักเก็บพลังงาน (เอนเนอร์จี สตอเรจ)ยังไหลสู่บ้าน และอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไปโรงงาน หรือบ้านจะไม่ต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้า เพราะโซลาร์รูฟราคาถูกลง เมื่อถึงเวลานั้นสามารถทำโรงจอดรถให้เป็นที่เก็บกักพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย

“เอนเนอร์จี รีฟอร์ม พัฒนาธุรกิจตนเองไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มลูกค้าในหมวดพลังงาน ”

สุรชัย ระบุว่า ต่อไปถ้าคนนึกถึงนวัตกรรมการประหยัดพลังงาน ทุกคนจะนึกถึง ‘เอนเนอร์จี รีฟอร์ม’ ซึ่งจะปฏิรูป(Reform)ไปตามพลังงานที่เข้ามาในอนาคตเพราะรูปแบบของพลังงานเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ธุรกิจนี้เป็นสมาร์ท บิสซิเนส ที่แตกต่างและท้าทายที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้